Telecommunications

ผลศึกษาชี้ ‘ธุรกิจสื่อสาร’ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย 7 แสนล้านดอลล์

“เทเลนอร์” เผยธุรกิจสื่อสารสร้างมูลค่าให้ประเทศไทย 7 แสนล้านดอลลาร์ ดันเศรษฐกิจเอเชียโตถึง 75% แต่ภาพรวมทั้งภูมิภาคยังใช้การสื่อสารหนุนเศรษฐกิจไม่เต็มศักยภาพ

มือถือ

นายเจมส์ แอลลัน ผู้อำนวยการฟรอนเทียร์อีโคโนมิกส์ บริษัทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สัญชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า ฟรอนเทีย ร์อีโคโนมิกส์ได้จัดทำรายงานเรื่อง The Mobile Effect: How Connectivity Enables Growth” ครอบคลุม 5 ประเทศที่เทเลนอร์กรุ๊ปดำเนินกิจการอยู่ในเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา มาเลเซีย และไทย เพื่อประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และเทเลนอร์กรุ๊ปต่อภูมิภาคเอเชีย ทั้งในมิติการลงทุนและการนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มผลิตภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

จากการศึกษาพบว่า บริการด้านโทรคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนสร้างตลาดใหม่ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียโดยรวมเติบโตถึง 75%

โดยภาคการเงิน ธุรกิจค้าปลีก การศึกษา สาธารณสุขและการขนส่ง เป็นธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการช่วยหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตกว่าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม

4V1A7655
เจมส์ แอลลัน ผู้อำนวยการฟรอนเทียร์อีโคโนมิกส์

นายเจมส์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยนั้น มูลค่าเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องบริการการสื่อสารเติบโตเกือบ “เท่าตัว” ในช่วง 10 ปี จาก 3.5-4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2548 เป็น 7 แสนล้านดอลลาร์ใน ปี 2558

นอกจากนี้ ตัวเลขสำคัญของเทเลนอร์กรุ๊ป และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทยชี้ว่า พนักงานหนึ่งคนช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยเป็นจำนวน 245,000 ดอลลาร์ในปี 2559-2560 และ 23% ของรายได้นำกลับไปลงทุนระหว่างปี 2558 ถึง 2560

ด้านเทเลนอร์กรุ๊ปอุดหนุนประเทศไทยผ่านมาตรการภาษีในปี 2560 เป็นจำนวนเงิน 285 ล้านดอลลาร์และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ (EVA) แก่เศรษฐกิจไทยถึง 68%

สำหรับภาคการเงินมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นพื้นฐานในการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital payment) ที่เติบโตเกือบ “เท่าตัว” จาก 33% ในปี 2557 เป็น 62% ในปี 2560 ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล (Mobile wallet) เติบโตขึ้นจาก 1% เป็น 8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ภาคการเกษตร ก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เนื่องจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพทางการเกษตรที่ดี สะท้อนได้จากจีดีพีภาคการเกษตรที่เหลือเพียง 10% จากอดีตที่มีสัดส่วนสูงถึง 32%

040A3567
ฮากุน บรัวเซ็ท เชิร์ล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานพันธมิตรและสัมพันธ์องค์กร เทเลนอร์กรุ๊ป เอเชีย

ฮากุน บรัวเซ็ท เชิร์ล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานพันธมิตร และสัมพันธ์องค์กร เทเลนอร์กรุ๊ป เอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบัน เทเลนอร์กรุ๊ปดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมาแล้วกว่า 20 กว่าปี มีผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 166 ล้านคนใน 5 ประเทศ

การให้บริการการสื่อสารนั้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วเอเชีย ซึ่งระหว่างปี 2557 ถึง 2560 เทเลนอร์ลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้ง 5 ประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,200 ล้านดอลลาร์ และจะมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาวในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าภูมิภาคเอเชียใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาสังคมจึงความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลในอนาคต

S 81862661

ขณะที่ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า นวัตกรรมและการลงทุนของผู้ให้บริการมือถือได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งดีแทคจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้เข้าถึงบริการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาของยุค 5G ในอนาคต ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคตอันใกล้

ทางด้าน อัตสึโกะ โอกุดะ หัวหน้าฝ่ายไอซีที และการพัฒนา องค์กรเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสแคป) เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันขยายบริการโทรคมนาคมไปชนบทและหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงสร้างกลไกเพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งประเทศไทยก็มีโครงการเน็ตประชารัฐ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมในการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

ส่วน เรโนด์ เมเยอร์  ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ในประเทศไทย เปิดเผยว่า นอกจากการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมแล้ว ซึ่งสำคัญคือทุกคนต้องได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้ใครตกขบวนการพัฒนา ดังนั้นภาครัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์และภาคธุรกิจจะต้องคำนึงความยั่งยืน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการให้ความรู้ต่อสังคมด้วย

นอกจากนี้ ไม่ต้องการให้มองเทคโนโลยีในแง่ของประโยชน์เพียงด้านเดียว เพราะควรมีการออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย เนื่องจากข้อมูลมีอยู่ในทุกๆ ที่และผู้คนก็หวาดกลัวในประเด็นนี้

fig 13 05 2019 12 24 39

ส่วน อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult Thailand เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อย 40-50% ซึ่งการที่เกษตรกรใช้โทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ เช่น สภาพอากาศ จะทำให้การตัดสินใจของเกษตรกรดีขึ้น โดยบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 50% เป็นตัวอย่างว่าเครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีช่วยในการพัฒนาประเทศไทยได้

ทั้งนี้ เมื่อระบบโทรคมนาคมสามารถพลิกโฉมภาคเกษตรได้ ก็น่าขยายผลไปช่วยพัฒนาภาคการศึกษาและภาคสาธารณสุขที่เป็นอีก 2 ส่วนสำคัญในสังคมไทยได้เช่นกัน ซึ่งทำให้การตัดสินใจต่างๆ ภาคส่วนเหล่านี้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีโทรคมนาคม และโทรศัพท์มือถือช่วยในการขับเคลื่อนภาคการเงินให้เข้าสู่โลกดิจิทัล โดยเมื่อ 2 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดตัวพร้อมเพย์ (Promtpay) ซึ่งเป็นการผูกเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ไว้กับเลขบัญชีธนาคาร ซึ่งก็ส่งผลให้การจ่ายเงินออนไลน์เติบโตสูงขึ้นกว่า 100% และมีบัญชีธนาคารกว่า 41 ล้านบัญชี ซึ่งใช้บริการจ่ายเงินออนไลน์ ประเด็นนี้ทำให้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารมีแนวโน้มลดลง

ด้านธนาคารก็ยอมยกเลิกค่าธรรมเนียมต่างๆ เพราะเห็นว่าการได้รับข้อมูลจากการทำธุรกรรม จะช่วยธนาคารให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยี QR Code ก็ทำให้เอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

Avatar photo