Economics

‘ทีดีอาร์ไอ’ เสนอลดทหารเกณฑ์ 50% แก้ขาดแรงงาน รับสังคมสูงวัย

ทีดีอาร์ไอ เสนอ 6 ข้อรับสังคมสูงวัย ชูลดจำนวนทหารเกณฑ์ 50% เพิ่มจำนวนแรงงานในระบบได้ 50,000 คน แก้ปัญหาขาดแรงงาน ย้ำให้รัฐบาลใหม่มองยาวแม้เสียงปริ่มน้ำ วางรากฐานรองรับสังคมสูงวัยก่อนสาย 

IMG 9426

ในงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วันนี้ ( 13 พ.ค. ุ62 ) ได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน เพื่่อเตรียมพร้อมกับการที่ไทยเป็น “สังคมอายุยืน” พร้อมกับการเป็น “สังคมสูงวัย” ให้คนไทยมีชีวิตยืนยาวที่อยู่ดี และมีสุข สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนเมือง ให้ช่วยสร้างพลัง แก่คนทุกวัย มีหลักประกันสุขภาพ และการเงินมั่นคงรับชีวิตยืนยาว มีทักษะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนทุกวัย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ทำให้คนไทยมีอายุคาดการณ์เมื่อเกิดถึง 75.3 ปี ในปี 2559 และเมื่อประมาณการอายุคนไทยตามรุ่นอายุ ซึ่งคิดผลของพัฒนาการทางเทคโนโลยีเข้ามาด้วย พบว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี ซึ่งหมายความว่า ต่อไปการมีคนไทยอายุเกิน 100 ปี จะเป็นเรื่องปกติ จากล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยที่อายุยืนกว่า 100 ปีแล้ว ถึง 9,041 คน

การเป็นสังคมอายุยืนนำมาซึ่งโอกาส และความท้าทายใหม่ๆ มากมาย ภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน ควรวางแผนและเตรียมการที่ดี เพราะแม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่การที่ไทยเป็นสังคมสูงวัยด้วย ทำให้ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

  • วัยแรงงานมีจำนวนลดลง
  • มีผลิตภาพแรงงานต่ำลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
  • ออกจากตลาดแรงงานเร็วเกินไป

รักษาการเจิบโตให้ต่อเนื่อง 01

ประเด็นแรก คาดการณ์ว่า วัยแรงงานอายุ 15-55 ปี จะมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 67% ในปี 2553 เหลือ 64.1% ในปี 2563 ก่อนจะเหลือ 58.6% ในปี 2573 และ 55.1% ในปี 2583 ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น จาก 13.2% เป็น 19.1%, 26.6% และ 32.1% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ลดลงจาก 19.8% เหลือ 16.8%, 14.8% และ 12.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ประเด็นที่สอง ผลิตภาพจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงจากเดิม 0.8% ต่อปี

ประเด็นที่สาม คนไทยออกจากตลาดแรงงานช่วงอายุ 50-59 ปี

แนวทางแก้ปัญหาขอเสนอทางออก 6 ข้อ ดังนี้

  1. ลดการออกจากระบบแรงงาน โดยขยายอายุการรับบำนาญ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ 9.2%
  2. ดึงคนสูงอายุ 60-69 ปีกลับมาทำงาน แก้ปัญหาได้ 1.8%
  3. เพิ่มแรงงานต่างด้าวปีละ 100,000 คน แก้ปัญหาได้ 3.1%
  4. ลดทหารเกณฑ์ลง 50% จากปกติรับปีละ 100,000 คน แก้ปัญหาได้ 6%
  5. เพิ่มการใช้เครื่องจักร ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่ม 1.1-1.6%ต่อปี แก้ปัญหาได้ 100% ซึ่งในประเด็นนี้ในปี 2561 ทั้งระบบลงทุนแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท
  6. เพิ่มการเติบโตของผลิตภาพ (TFP ) อีก 1.1% ต่อปี โดยสร้างนวัตกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แก้ปัญหาได้ 100%

รักษาการเติบโต 01

“การที่คนมีอายุยืนขึ้น จำนวนผู้สูงอายุ ที่ติดบ้านติดเตียงจะเพิ่มขึ้นจากกว่า 400,000 คนในปี 2560 เป็นกว่า 1 ล้านคนในปี 2580 ขณะเดียวกันจำนวนคนสูงอายุก็มากขึ้น วัยแรงงานลดลง วัยเด็กเกิดน้อยลง หากเราไม่ทำอะไรเลยยืนยันได้ว่ากองทุนประกันสังคมจะล้มละลายใน 20 ปี หรือภายในปี 2580 อย่างแน่นอน “

ดร.สมเกียรติ ย้ำว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจะต้องมองระยะยาว  และเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ และเรื่องบำนาญ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้อาจไม่ได้อยู่ยาว เพราะเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็ต้องการให้มองระยะยาว เพื่อวางรากฐานสำคัญของประเทศ และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลิตภาพของไทยที่ลดลงปีละ 0.8% และการที่เกษตรกรมีอายุมากขึ้น และลูกหลานไม่ต้องการมาสืบทอดการทำเกษตร

IMG 20190513 104217
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ความท้าทายที่มากับสังคมผู้สูงอายุมีหลายเรื่อง จะต้องหาทางแก้ปัญหาทั้งการสนับสนุนการนำเครื่องทุนแรงหรือเครื่องจักรมาใช้ในภาคเกษตรรวมถึงภาคอุตสาหกรรม  พร้อมกับการปรับนิยามผู้สูงอายุตามประเทศพัฒนาแล้วคือ อายุ 65 ปี และยืดการรับบำนาญ เพื่อขยายอายุการทำงาน ยืดเวลาการออม และฝึกทักษะสำหรับโลกอนาคตมากขึ้น

“สถานการณ์การเมืองที่เป็นแบบนี้ ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ จึงไม่ได้คิดว่าจะต้องนำเสนอรัฐบาล แต่ต้องการสื่อสาธารณะมากกว่า ให้ทุกคนเข้ามาช่่วยกันแก้ปัญหา ช่วยตัวเอง มากกว่าที่จะรอพึ่งรัฐบาลใหม่ ที่อาจจะอยู่ได้ไม่ยาว โดยนำบทเรียนของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาก่อน เช่น ญี่ปุ่นมาเรียนรู้  และการที่เราจะเป็นสังคมสูงอายุก่อนใครในอาเซียน หากเราปรับตัวได้เร็ว สามารถใช้โอกาสนี้สร้างการเติบโตทางธุรกิจทีเกี่ยวข้อง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้อนตลาดอาเซียนและจีน “

20 ธุรกิจดาวรุ่งรับสังคมสูงวัย

ทางด้าน ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่จำเป็นต้องลดลง แม้จำนวนแรงงานลดลง หากไทยเร่งนำเอาระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ ประกอบกับสร้างธุรกิจดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีอย่างน้อย 20 ธุรกิจ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เวชศาสตร์และผลิตภัณฑ์ชะลอวัย การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุ และคนในช่วงวัยต่างๆ ในสังคมอายุยืน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน และคนในประเทศเพื่อนบ้านที่จะกลายเป็นคนสูงวัยตามมา โดยหากมุ่งเป้าทำธุรกิจแค่กับคนไทย ตลาดจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

ในด้านการพัฒนาเมืองสำหรับคนในสังคมอายุยืน ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ และนางสาวณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ เสนอให้ออกแบบจัดการเมืองที่เอื้อต่อคนทุกวัยให้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ และช่วยให้ผู้สูงอายุ สูงวัยอย่างมีพลัง (Active Aging)

โดยจัดให้มีพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ อย่างเพียงพอและทั่วถึง อาจเป็นพื้นที่เล็ก  1-2 ไร่ แต่ขอให้กระจายตัวออกไปรองรับประชาชนได้ทุกพื่้นที่ รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดมากพอ เหล่านี้ให้สามารถเดินไปได้ถึง และเดินได้อย่างมีคุณภาพ มีระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตร ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างดี ตลอดจนต้องกำหนดโซนในย่านที่มีผู้สูงวัยพักอาศัยมาก โดยลดความเร็วของรถยนต์ที่วิ่งผ่าน เพื่อลดอุบัติเหตุ

IMG 20190513 144106
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

ต้องมีเงินเก็บ 1-2.8 ล้านใช้ช่วงสูงวัย

ประเด็นการเตรียมพร้อมทางการเงินสำหรับการมีอายุยืนยาว รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษานโยบายด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า คนไทยจะมีเงินบำนาญและเบี้ยยังชีพ ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต เพราะผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ที่ต้องการใช้จ่ายประมาณเดือนละ 7 พันบาทต่อเดือน จะต้องมีเงินออมไว้ใช้ 2.85 ล้านบาท หากเป็นนอกเขตเทศบาลต้องใช้จ่ายประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน หรือต้องมีเงินเก็บประมาณ 1 ล้านบาท เมื่อมีอายุ 60 ปี และหากต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มการออมให้มากขึ้นอีก

ดังนั้นควรส่งเสริมให้มีการออมทั้งภาคบังคับและสมัครใจ โดยเฉพาะสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน และขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออม

ที่สำคัญคนไทยที่อายุยืนขึ้น ควรต้องมีสุขภาพดีขึ้น เพื่อป้องกันความพิการที่ทำให้ต้องอยู่ติดบ้านหรือติดเตียง โดย ดร.วรวรรณ ประมาณการว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยติดเตียงมากถึง 2 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลระยะยาวสูงถึง 1.2 แสนบาทต่อคนต่อปี และมีผู้ป่วยติดบ้านอีกกว่า 3 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่าย 2.3 แสนต่อคนต่อปี

ขณะที่ ดร.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกับทีดีอาร์ไอ ศึกษาระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-term Care Insurance) พบว่าคนไทยพร้อมจ่ายเบี้ยประกันประมาณ 500–2,000 บาท เพื่อให้ได้รับบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุมาเยี่ยมที่บ้าน และมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ การจัดบริการดังกล่าวควรร่วมกันแบ่งรับภาระโดยประชาชน รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อกระจายความเสี่ยง แทนที่จะให้แต่ละครอบครัวแบกรับความเสี่ยงกันเอง

IMG 20190513 100516

ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ความท้าทายที่สำคัญประการสุดท้ายจากการเข้าสู่สังคมอายุยืนคือ การพัฒนาทักษะคนไทยให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตได้ นางสาวณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา เสนอว่า ต้องมีการออกแบบระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม โดยใช้ระบบ “บัญชีการเรียนรู้ส่วนบุคคล”

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะตามความต้องการของประชาชนแต่ละคน เหมือนตัวอย่างของสิงคโปร์ และฝรั่งเศส ร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อม และรูปแบบการทำงานให้เป็นมิตรกับคนทุกวัย

ภาคเอกชนควรปรับตัวให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานในอนาคต ในขณะที่ภาครัฐควรปรับแรงจูงใจการจ้างงานผู้สูงอายุให้ดึงดูดใจเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานเลี้ยงชีพ สร้างความหมายแก่ชีวิตตน แบ่งปันทักษะแก่ผู้อื่น และร่วมพัฒนาประเทศให้เติบโตต่อไปได้

สำหรับในเรื่องการปรับลดจำนวนทหารเกณฑ์ลง 50% ที่ดร.สมเกียรติเสนอนั้น อีกด้านอาจจะใช้วิธีการขยายอายุของทหารเกณฑ์ เพื่อรับผู้สูงวัย เพราะบางงานของทหารเกณฑ์ เช่น งานเบาๆ ผู้สูงวัยก็สามารถทำได้

Avatar photo