Business

อะไรทำให้ GRAMMY ‘กำไร’ ครั้งแรกรอบ 7 ปี

เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยเมื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ประกาศผลประกอบการงวดปี 2561 มีกำไรครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลายคนอาจไม่เชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อแบบ GRAMMY จะอยู่ในภาวะขาดทุนติดต่อกันยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2555 – 2560

ปี 2555 รายได้ 11,756  ล้านบาท ขาดทุน 248 ล้านบาท

ปี 2556 รายได้ 11,003 ล้านบาท ขาดทุน 1,221 ล้านบาท

ปี 2557 รายได้ 9,264  ล้านบาท ขาดทุน 2,345 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้  9,708 ล้านบาท ขาดทุน 1,145 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 7,446 ล้านบาท ขาดทุน 520 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 8,869 ล้านบาท ขาดทุน 384 ล้านบาท

ก่อนที่ล่าสุดในปี 2561 จะฟื้นจากช่วงที่ยากลำบากได้สำเร็จ พลิกงบการเงินเป็นบวก ทำกำไรสุทธิ 15.43 ล้านบาท จากรายได้รวม 6,984 ล้านบาท

รายได้ธุรกิจเพลง 01

GRAMMY พลิกวิกฤติธุรกิจครั้งนี้ กลับมาได้อย่างไร ลองมาไล่เลียงกันดูทีละประเด็น

1. รัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย

การพลิกมามีกำไรครั้งนี้ ไม่ใช่มาจากรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการควบคุมรายจ่ายที่มีประสิทธิภาพต่างหาก  สิ่งที่ชัดเจนสุดคงเป็นการทยอยลดจำนวนพนักงานที่ไม่จำเป็นลง เพราะจากข้อมูลเมื่อ 7 ปีที่แล้ว GRAMMY มีพนักงานกว่า 3,500 คน มาในวันนี้เหลือพนักงานเพียง 1,800 คนเท่านั้น

ทำให้ GRAMMY คล่องตัวกว่าเดิม ลดความใหญ่โตที่ไม่จำเป็น ปรับให้เข้ากับรูปแบบทำงานยุคใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพต่อหน่วยแทน สะท้อนได้จากอัตรากำไรสุทธิที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน 

2. ตัดธุรกิจที่ไม่มีอนาคตทิ้ง

นับตั้งแต่ปี 2558 พวกเขาเริ่มตัดสินใจขายธุรกิจบางส่วนที่ไม่ใช่ Core Business ได้แก่

– ขายหุ้นร้านหนังสือซีเอ็ด

– ขายหุ้นนิตยสาร Image, In Magazine, Madame Figaro, Maxim, Her World และ Attitude

– หยุดกิจการธุรกิจเพย์ทีวี GMMZ  

เพราะบริษัทมองว่า ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถเติบได้ในอนาคต จึงเลือกที่จะขายหุ้นบางส่วนทิ้ง หรือหยุดกิจการไปเลยดีกว่า เพื่อนำกระแสเงินสดมาหมุนเวียนช่วยพยุง Core Business ก็คือธุรกิจเพลงให้เดินหน้าต่อได้

3. ยอมถอยจากทีวีดิจิทัล

ทีวีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างผลขาดทุนมหาศาลให้ GRAMMY เพราะนับตั้งแต่ปี 2556 สถานการณ์ของธุรกิจนี้ไม่เคยเป็นบวกเลย

ยิ่งต้องมาบริหารถึง 2 ช่อง คือ GMM 25 และ One 31 ยิ่งทำให้ขาดทุนจากทีวีดิจิทัลระดับปีละ 1,000 ล้านบาท มาโดยตลอด ในปี 2561 GRAMMY จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ ลดสัดส่วนถือหุ้นกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลลง

ช่อง GMM 25 ขายหุ้นจำนวน 50% มูลค่าราว 1,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทในเครือของเสี่ยเจริญ

ช่อง ONE 31 ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 25% โดยขายหุ้นให้กับกลุ่มปราสาททองโอสถ ของหมอปราเสริฐ มูลค่า 1,900 ล้านบาท

ทำให้ปัจจุบัน GRAMMY ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 2 ช่องทีวีดิจิทัลนี้อีกต่อไปแล้ว

กลับมาโฟกัสสิ่งที่ตัวเองถนัด

เพลง คือสิ่งที่ GRAMMY ถนัดมากที่สุดมีประสบการณ์ในวงการนี้นานกว่า 35 ปี และแม้ใครจะบอกว่าธุรกิจเพลงในเมืองไทย ไม่ทำกำไรอีกต่อไปแล้ว แต่ GRAMMY ไม่คิดแบบนั้น เพราะหากทำในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญอย่างจริงจัง สุดท้ายรายได้และกำไรจะตามมาเอง

รายได้2 013

อย่างตอนนี้มีแพลตฟอร์มออมไลน์หลายตัวที่กำลังเป็นฐานรายได้ให้บริษัท อาทิ  YouTube, iTunes, JOOX, Spotify และ Line TV ทำให้ภาพรวมธุรกิจเพลงกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้ธุรกิจเพลงอยู่ที่ 1,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.87% จากปี 2560 ที่ทำได้ 1,354 ล้านบาท

ขณะที่รายได้จากธุรกิจจัดคอนเสิร์ต (ShowBiz) อยู่ที่ 1,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.20% จากปี 2560 ที่ทำได้ 1,608 ล้านบาท

คงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการเดินหมากเกมนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องในระยะยาวหรือไม่ อย่างไรก็ดี การสู้ในสนามที่ตัวเองถนัด คงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสุดในเวลานี้ และมารอลุ้นงบไตรมาสแรกปี 2562 พร้อมกันอีกทีว่าพวกเขาจะยังทำกำไรได้ต่อเนื่องอยู่ไหม  

Avatar photo