COLUMNISTS

‘ราคาน้ำมัน-สินค้าเกษตร’ สะท้อนการบริหารแบบไม่บริหารสไตล์ คสช.

Avatar photo
484

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เคยเขียนบทความเตือนรัฐบาลให้เตรียมรับมือเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น

ผ่านมา 5 เดือนราคาน้ำมันขยับขึ้นจากที่เคยอยู่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาเป็น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกพุ่งสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะดีเซล ซึ่งในบางพื้นที่ทะลุ 30 บาทไปแล้ว

ในขณะที่เงินในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นบวกอยู่ที่ 30,505 ล้านบาท ไม่ได้ถูกนำมาบริหารจัดการเพื่อเป็นกันชนให้กับผู้บริโภคอย่างที่ควรจะเป็น สะท้อนถึงการขาดความใส่ใจ และความอ่อนด้อยในการบริหารจัดการ และขาดความเชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนรากหญ้า

หลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีสัญญาณเตือนในวิกฤติราคาสูงขึ้นของน้ำมันโลก หรือความตกต่ำในสินค้าเกษตรหลักของไทย หากแต่รัฐบาลไม่มีบทบาทนำในการกำหนดนโยบายล่วงหน้า ปล่อยให้เป็นเรื่องของราชการบริหารตามสไตล์รัฐข้าราชการแบบรวมศูนย์ บิดเบือนข้อมูลทำให้นโยบายบิดเบี้ยวหรือเชื่องช้าไม่ทันการณ์

ล่าสุด เกิดปัญหาถูกด่าขรมไปทั้งโซเชียลเรื่องการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซ ผู้ประกอบการภาคขนส่งขอขึ้นราคาค่าโดยสาร และค่าขนส่งสินค้า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน จึงออกมาประกาศว่าจะใช้เงินในกองทุนน้ำมันมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะดูแลราคาน้ำมันไปได้ประมาณ 10 เดือน

ในความเป็นจริงรัฐบาลคสช.สามารถบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมันได้ดีกว่านี้ ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ เมื่อราคาน้ำมันเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ควรประกาศตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลน้ำมันดีเซลตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาท

หากมีความชัดเจนในเชิงนโยบายไม่ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นแค่ไหนก็จะไม่เกิดความสับสนอลหม่าน จนภาคขนส่งต้องมาขอขึ้นราคาเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะผู้ประกอบการจะมีความมั่นใจว่า ต้นทุนจะไม่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากภาครัฐดูแลอยู่

แต่เพราะความไม่ใส่ใจปล่อยทุกอย่างเดินไปตามยถากรรม พอเกิดปัญหาถูกด่า ราคาสินค้าจะขยับ จึงค่อยออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และก็ยังเป็นการส่งสัญญาณเสมือนกับจะทำเป็นเรื่องเฉพาะกิจมากกว่าที่จะเป็นนโยบายในเชิงเศรษฐกิจ เพราะระบุว่าจะใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าจะรับมือได้ประมาณ 10 เดือน

คำถามคือแล้วหลังจากนั้น ถ้าราคาน้ำมันยังไม่ลง เงินในกองทุนน้ำมันหมด รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร ภาคขนส่งจะต้องกลับมาส่งเสียงดังๆ ว่าจะขึ้นราคาอีกหรือไม่ จากนั้นรัฐบาลค่อยมากำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมอย่างนั้นหรือ

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นตัวชี้วัดฝีมือของรัฐบาลในแต่ละยุคว่า จะสามารถบริหารจัดการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุดอย่างไร

Screenshot 20180528 155105

ขอเปรียบเทียบสามรัฐบาลในช่วงเดือนพฤษภาคมให้เห็นชัดเจน ดังนี้

19 พฤษภาคม 2561 รัฐบาลคสช.ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 66.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซล 29.79 บาท

16 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 102.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซล 29.99 บาท แต่เคยปล่อยให้ทะลุไปถึง 32.33 บาท ช่วงมีนาคมและเมษายนปี 2555 ก่อนจะกลับมาตรึงราคาที่ 29.99 บาท

20 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 109.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซล 29.99 บาท

จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบในรัฐบาลชุดนี้ต่ำที่สุด แต่ราคาน้ำมันดีเซลแพงที่สุด เพราะไม่มีการบริหารจัดการใดๆ เลย กระทั่งเริ่มวิกฤติจึงค่อยมาขยับตัว ซึ่งเป็นวิธีการบริหารที่เหมือนกับกับการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร คือไม่เคยไปดูแลก่อนปัญหาเกิด ทั้งๆ ที่เกษตรกรส่งเสียงเตือนล่วงหน้าแล้ว เช่น ปัญหายางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น แต่รัฐบาลจะเข้ามาเมื่อราคามันตกต่ำ หรือประชาชนเสียหายย่อยยับไปแล้ว

นี่คือความอ่อนด้อยในเชิงบริหารและผลลัพธ์ที่เกิดจากรัฐราชการที่มีผู้นำคอยเดินตาม แทนที่จะกำหนดทิศทางให้ราชการต้องปฏิบัติ

แค่บริหารประเทศปกติยังวุ่นวายไร้มาตรการเชิงรุก แล้ววันนี้จะหวังอะไรกับการปฏิรูปประเทศที่ถูกขับเคลื่อนโดยราชการ