Business

‘ตระกูลเจียรวนนท์’ ยังครองเบอร์ 1 ในอันดับอภิมหาเศรษฐีไทย ปี 2019

หลังความมั่งคั่งทะยานขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของไทยเผชิญจุดสะดุดในปี 2562 เนื่องจากครึ่งหนึ่งของผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยมีทรัพย์สินลดลง รวมถึงมหาเศรษฐี 4 อันดับแรก และยังส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำในการจัดอันดับปีนี้อยู่ที่ 565 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 600 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

10 อภิมหาเศรษฐีไทย 01

ความไม่แน่นอนก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม มีส่วนบั่นทอนบรรยากาศความเชื่อมั่น ฉุดค่าเงินบาท และดึงดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีในทำเนียบปรับตัวลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 160,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท) จากเมื่อปีที่แล้วที่ 162,000 ล้านดอลลาร์

มหาเศรษฐีไทย 4 อันดับแรก ต่างมีมูลค่าความมั่งคั่งลดลง โดยพี่น้อง ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังคงรั้งอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 29,500 ล้านดอลลาร์ (941,000 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยจาก 30,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

01 พี่น้องเจียรวนนท์

หลังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) มานาน 25 ปี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสแห่งซีพี ประกาศลงจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเรือธงของกลุ่มเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังคงนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการเครือข่ายร้าน 7-Eleven ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่อันดับ 2 เป็นของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีทรัพย์สินสุทธิ 21,000 ล้านดอลลาร์ (670,000 ล้านบาท) แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วที่ 21,200 ล้านดอลลาร์

10 อภิมหาเศรษฐีไทย2 01

ด้าน เฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดงยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 แม้ความมั่งคั่งลดลงมาอยู่ที่ 19,900 ล้านดอลลาร์ (635,000 ล้านบาท) จาก 21,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า และ เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ครองอันดับ 4 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 16,2000 ล้านดอลลาร์ (517,000 ล้านบาท) ลดลง 1,200 ล้านดอลลาร์ จาก 17,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2561

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของมหาเศรษฐีที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในทำเนียบปีนี้ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่มั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้คือ สารัชถ์ รัตนาวะดี นักธุรกิจใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1,800 ล้านดอลลาร์  (57,400 หมื่นล้านบาท) มาอยู่ที่  5,200 ล้านดอลลาร์  (166,000 ล้านบาท) ส่งผลให้เขาติดอยู่ในท็อป 5 มาได้เป็นครั้งแรก

05 สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี

ราคาหุ้นของสารัชถ์ในบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) พุ่งขึ้น 57% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เริ่มดำเนินการแล้ว และรายได้ของบริษัทเมื่อปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า มาอยู่ที่ 628 ล้านดอลลาร์  (20,200 ล้านบาท)

มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างโดดเด่นอีกรายคือ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ (อันดับ 8 – 3,000 ล้านดอลลาร์) มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 2,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว หลังนำบริษัท โอสถสภา ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังอายุ 128 ปี  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ภายใต้การบริหารของ เพชร โอสถานุเคราะห์ นักสะสมงานศิลปะตัวยง และอดีตนักร้องเพลงป๊อป

สำหรับในปีนี้ มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ติดการจัดอันดับ 4 ราย คือ  ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ (อันดับ 23 – 1,800 ล้านดอลลาร์) ประธาน เครือเบทาโกร บริษัทอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา (อันดับ 6 – 4,700 ล้านดอลลาร์) วัย 33 ปี ซึ่งอายุน้อยที่สุดในทำเนียบ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากบิดาผู้ล่วงลับ วิชัย ศรีวัฒนประภา ขึ้นเป็นซีอีโอ คิง เพาเวอร์ ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร

06 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา

ด้าน ชาติศิริ โสภณพนิช (อันดับ 29 – 1,100 ล้านดอลลาร์) กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ปรากฏชื่อในทำเนียบเป็นครั้งแรก หลังจากที่ ชาตรี โสภณพนิช ผู้เป็นพ่อ เสียชีวิตในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วน ตระกูลมาลีนนท์ (อันดับ 47 – 600 ล้านดอลลาร์) แห่งบริษัทสื่อ บีอีซีเวิลด์ ก้าวเข้ามาเป็นหน้าใหม่ในทำเนียบเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมี 4 มหาเศรษฐีที่กลับเข้าสู่ทำเนียบอีกครั้ง รวมถึง ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ (อันดับ 45- 640 ล้านดอลลาร์) ที่หลุดจากการจัดอันดับไป 5 ปี  โดย ทีพีไอ โพลีน บริษัทผลิตซีเมนต์และคอนกรีตของเขา กลับมาทำกำไรได้ 45 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นบริษัทในปี 2561 ปรับขึ้น 14%

Avatar photo