CEO INSIGHT

นิธิ สัจจทิพวรรณ ‘ต้องDisrupt ตัวเอง ก่อนถูกDisrupt’

ในยุคเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว “ผู้บริโภค”ถูกสปอยล์จากผู้ประกอบการด้วยเซอร์วิสที่ต้องดีกว่าเดิม  ท่ามกลางกลางสถานการณ์การแข่งขันในโลกเสรี ตลาดเปิดสำหรับ “คู่แข่ง-คู่ค้า” ที่สามารถเข้าสู่ตลาดไทยได้ทุกเมื่อ ล้วนเป็นปัจจัยให้ธุรกิจไทยต้อง “ปรับตัว” เปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามกระแสโลก

นิธิ สัจจทิพวรรณ MyCloud
นิธิ สัจจทิพวรรณ

นิธิ สัจจทิพวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ MyCloudFulfillment ธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการคลังสินค้า แพ็คและส่งสินค้าในกลุ่มเอสเอ็มอี เล่าว่าการเริ่มต้นธุรกิจในปี 2558 มาจากไอเดียที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาการขายของออนไลน์ให้กับพ่อค้าแม่ค้า ในเรื่องคลังเก็บสินค้า การแพ็คและจัดส่งสินค้า ซึ่งเป็นระบบหลังบ้านที่ยุ่งยาก สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

โดยพัฒนาบริการระบบจัดการที่เชื่อมต่อช่องทางขายและการจัดส่งสินค้าอัตโนมัติ โดยเจ้าของสินค้าไม่ต้องรับออเดอร์หลายช่องทาง พร้อมบริหารสต็อกสินค้าเดียวที่สามารถเชื่อมต่อทุกช่องทางการขายผ่านบริการของ MyCloudFulfillment

นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ MyCloudFulfillment  ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง ปีแรกเติบโต 10 เท่า  ปี 2560 เติบโตอย่างก้าวกระโดดอีก 5 เท่า และไตรมาสแรกปีนี้เติบโต 3 เท่า  เป็นการเติบโตต่อเนื่องที่ไม่ได้ช้าลง!

ปัจจัยการเติบโตมาจากลูกค้าที่ขยายตลาดได้มากขึ้น จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตตามไปด้วย เพราะเป็นบริการที่เชื่อมต่อกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

 ‘คิดนอกกรอบ’ตอบโจทย์ลูกค้า

แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยีและผู้บริโภค การทำงานของทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน  การพัฒนาธุรกิจต้องเข้าใจ “ปัญหา” (pain point) ของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 ปีก่อนและปีนี้ เชื่อว่าไม่เหมือนกัน  และในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ไม่เหมือนกัน

การคิดนอกกรอบเป็นการคิดไปข้างหน้าและคิดถึงปัญหาอย่างแท้จริง ต้องคิดและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ธุรกิจในทุก 2-3 ปีต้องมีการ disrupt ตัวเองเช่นกัน  เพราะหากเราไม่ disrupt ตัวเอง ก็จะมีคนอื่นมา disrupt  เรา

สตาร์ทอัพ
รูปเฟซบุ๊ก MyCloudFulfillment

ผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ

นิธิ บอกว่าการที่ธุรกิจรวมทั้ง MyCloudFulfillment  ควรต้อง Disrupt ตัวเองทุก 2-3 ปี มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เพราะพวกเขามีความต้องการที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ ทุกธุรกิจจึงต้องปรับตัวรวมทั้งสตาร์ทอัพ ตัวอย่าง JIB เดิมส่งของภายใน 3 ชั่วโมง ก็ต้องพัฒนาขยับให้เร็วขึ้น โดยส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง

“ลูกค้าวันนี้ถูกสปอยล์ มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกธุรกิจ จึงต้อง disrupt ตัวเอง  เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดหากตามความต้องการผู้บริโภคไม่ทัน ทุกสินค้าและบริการจะมีคนมาแย่งทำทันที โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการต่างชาติระดับโลก ที่มีเงินทุนจำนวนมาก”

ในธุรกิจโลจิสติกส์ โจทย์หลักคือ “ต้องเร็วขึ้น” จากเทคโนโลยีและทุกอย่างที่ไปในทิศทางดังกล่าว ทั้งระบบส่งสินค้า แพ็คสินค้า ที่ต้องนำระบบอัตโนมัติ และ AI เข้ามาช่วยงาน

รูปแบบช้อปออนไลน์ ที่ต้องเลือกสินค้าจากมือถือเอง วันนี้อาจไม่ตอบโจทย์ และพัฒนาเป็นรูปแบบ Virtual Reality (VR)  ที่การันตีได้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้แน่นอน!!

ปัจจุบันระบบ “วีอาร์ คอมเมิร์ซ” ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน  โดย Tmall  ใช้ วีอาร์ คอมเมิร์ซ ให้ผู้ใช้งาน “พยักหน้า” แทนการกดซื้อสินค้า  หลังจากนี้ “แจ็ค หม่า” หรือ อาลีบาบา จะสร้างปรากฎการณ์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวก็ไปไม่รอด!!

สตาร์ทอัพ mycloud
รูปเฟซบุ๊ก MyCloudFulfillment

ชูบิ๊กดาต้าบริหารคลังสินค้า

ในยุคเริ่มต้น “อีคอมเมิร์ซ” หรือการค้าขายออนไลน์ มุ่งไปที่การซื้อสินค้า “ราคาถูก” เป็นหลัก แต่ในยุคที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหรือมาร์เก็ตเพลส จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดไทยจำนวนมาก โดยใช้กลยุทธ์การแข่งขันมุ่งโปรโมชั่นลดราคาสินค้า และส่งสินค้าด้วยความรวดเร็ว เป็นการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภค ถึงเรื่องราคาถูกและส่งสินค้าเร็ว ทำให้เกิดความ “คุ้นชิน” กับรูปแบบการช้อปออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว

แต่ในยุคนี้ที่บริการส่งสินค้าเร็ว ผู้ประกอบการหลายรายอาจทำได้ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเพิ่มขึ้น คือการตามใจ นำเสนอสินค้าแบบ Customize ตรงตามความต้องการผู้บริโภคที่มีเซ็กเมนต์แยกย่อยหลากหลายกลุ่ม

ดังนั้นผู้ให้บริการทุกธุรกิจในระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย สำหรับธุรกิจของ MyCloudFulfillment  ในส่วนคลังเก็บสินค้า นิธิ มองว่าการบริหารที่ดีที่สุดคือ ไม่มีของเก็บไว้ที่คลัง เพราะคลังไม่ใช่พื้นที่เก็บของ แต่เป็นสถานที่แวะพักสินค้าและกระจายออก การบริหารจึงมุ่งให้ผู้ประกอบการเก็บของไว้น้อยที่สุด

“สิ่งนี้ถือเป็นโจทย์ของเรา และต้อง Disrupt ตัวเองเช่นกัน เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าเก็บสต็อกสินค้าไว้จำนวนมากและขายไม่ได้ นั่นเท่ากับนำเงินมากองไว้ที่คลัง”

การบริหารสต็อกให้มีสินค้าน้อยที่สุด อยู่ที่ข้อมูลหลังบ้าน หรือที่คลังสินค้า  ซึ่งเห็นข้อมูลทั้งผู้ซื้อ เส้นทางการส่งสินค้า คำสั่งซื้อ  เป็นข้อมูลที่สามารถช่วยกำหนดแนวทางการผลิตสินค้าที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการทั่วไปและเอสเอ็มอี เพื่อไม่ต้องสต็อกสินค้าจำนวนมาก

การวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า คือการบริหาร บิ๊กดาต้า ที่มีความจำเป็นในการทำธุรกิจยุคนี้ เมื่อข้อมูลมีมากขึ้น การทำงานจะแม่นยำมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สตาร์ทอัพ
รูปเฟซบุ๊ก MyCloudFulfillment

เป้าหมายลดสต็อกเหลือ 1 วัน

นิธิ บอกว่าการบริหารบิ๊กดาต้า ในปัจจุบันต้องอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา เพราะลูกค้าเปลี่ยนแปลงเร็ว นอกจากดาต้าขนาดใหญ่แล้วต้องอัพเดทและเรียกใช้ข้อมูลได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันลูกค้าเก็บสต็อกกับ MyCloudFulfillment ประมาณ 1 เดือน แต่เป้าหมาย คือต้องการทำให้ได้ 1 วัน  นั่นหมายถึงการนำสินค้ามาส่งเช้า จัดการแพ็ค เพื่อส่งไปให้ผู้บริโภค ภายใน 1 วัน  เป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดส่ง และใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเป็นปี แต่เป็นสิ่งที่ต้องการทำให้ได้

ตัวอย่าง ลูกค้าของบริษัท ธุรกิจเอสเอ็มอี จำหน่ายผลิตภัณฑ์สบู่  สามารถยอดขายได้ 1,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยเช่าพื้นที่คลังสินค้า 2,000 ตร.ม. จ่ายค่าเช่าเดือนละ 1.5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพด้านการขายสูงมาก  ทั้งแต่กระบวนการ รับออเดอร์ ผลิต และส่งสินค้า จึงใช้พื้นที่เช่าคลังสินค้าไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายระดับ 1,000 ล้านบาท

การบริหารสต็อกที่เหมาะสมต้องเชื่อมโยงกับ ข้อมูลการซื้อและการผลิตสินค้าที่แม่นยำด้วย เพราะหากรู้ว่าภายใน 1 สัปดาห์ มียอดขายเท่าไหร่ จะผลิตสินค้าตามปริมาณที่เหมาะสม และถูกส่งไปยังผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีสต็อก  การจะก้าวไปถึงจุดดังกล่าว คือ การวิเคราะห์ดาต้า (Data Analytics) ที่มีข้อมูลจำนวนมาก ให้แม่นยำ เช่น โปรดักท์ขายดี โปรโมชั่นที่ได้รับความนิยม  แต่การบริหารสต็อกให้ลดลง จะทำงานควบคู่ไปกับการทำการตลาดและการส่งสินค้า

MyCloud สตาร์ทอัพ
รูปเฟซบุ๊ก MyCloudFulfillment

ปรับตัวชิงกำลังซื้อตลาดโลก

ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซไทย มียักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาขยายธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะการประกาศแผนลงทุนของ “อาลีบาบา”  ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ต้องปรับตัว

หากมองในมุมลบ คือ การถูกเข้ามาแย่งตลาดไทย ที่จีนจะเข้ามาเจาะฐานผู้บริโภค 70 ล้านคน  แต่หากมองในทางกลับกัน  ผู้ประกอบการไทย สามารถนำสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน 1,300 ล้านคนได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นการตั้งรับอย่างเดียว แต่สามารถมองเป็นโอกาสได้เช่นกัน

ดังนั้นการปรับตัวต้องมี Global Mindset  มองและศึกษาตลาดต่างประเทศ ทั้งพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ ของผู้บริโภคประเทศต่างๆ ที่อาจเป็นเป้าหมายของสินค้าของเราด้วย  โดยเฉพาะตลาดจีน ที่วันนี้กลายเป็นกำลังซื้อหลักของโลกไปแล้ว

“ผู้ประกอบการไทยต้องคิดการใหญ่ แต่เริ่มต้นด้วยการทำเล็ก ด้วยการมองตลาดโลก ในกลุ่มความต้องการเฉพาะ (Global Niche) แต่มีความต้องการนี้ในทุกประเทศ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องหาให้เจอเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจ”

 

Avatar photo