Economics

ปตท.ทบทวนธุรกิจเหมืองถ่านหินอินโด เหตุราคาร่วงไม่หยุด-ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปตท.ทบทวนธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย คาดปลายปีนี้สรุป เหตุราคาร่วงต่อเนื่อง เพราะตลาดเทไปที่ก๊าซธรรมชาติ จากประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซีย จบกระบวนการถอนการลงทุนทั้งหมดแล้ว หลังดำเนินการต่อเนื่องมา 4 ปี จากปัญหาปาล์มล้นตลาด ผลของแรงต้อต่านการบุกรุกทำลายป่า

  Mr.Chansin Treenuchagron 3

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน เพื่อปรับการลงทุนในธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย เพราะราคาถ่านหินไม่ดีนัก มีแต่เท่าเดิม หรือลดลง เพราะถูกแทนที่ด้วยก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จากประเด็นสิ่งแวดล้อม

อีกประการหนึ่งปตท.เองก็กำลังเน้นธุรกิจก๊าซธรรมชาติมากกว่าด้วย เราจึงต้องกลับมาประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินธุรกิจถ่านหินที่นั่น โดยปลายปีนี้ กระบวนการศึกษาต่างๆน่าจะได้ข้อสรุปว่าจะถอนการลงทุนหรือไม่

ปัจจุบันราคาเฉลี่ยถ่านหินตลาดโลกปี 2562 ทั้งปีคาดว่าจะต่ำลงเหลือ 85 ดอลลาร์ต่อตัน จากปี 2561 อยู่ที่ 108 ดอลลาร์ต่อตัน 

อย่างไรก็ตามนายชาญศิลป์ ระบุว่า ยังมีหลายทางเลือกที่เราประเมินกันอยู่ หากแนวโน้มราคายังพอไปได้ ทำให้ดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว  ก็อาจพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การลดหรือย่อขนาด ลดสัดส่วนหุ้น นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ หาพันธมิตรมาร่วมพัฒนาธุรกิจ

โดยปัจจุบันปตท. ถือหุ้น 94.56% ในบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหิน Sebuku และ Jembayan ในอินโดนีเซีย ที่มีการผลิตแล้ว

“ถ่านหิน อาจถูกมองว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ตัวถ่านหินไม่ได้มีผลโดยตรง สำคัญที่คนนำไปใช้ ว่าใช้อย่างไรมากกว่า “

ส่วนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมัน ที่อินโดนีเซียทั้ง 4 โครงการนั้น ปตท.ได้ขายหุ้นออกไปหมดแล้ว หลังจากทยอยดำเนินการมา 4 ปี เนื่องจากเรามองว่าเป็นธุรกิจที่ปตท.ไม่มีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) กำลังล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากยุโรปไม่สนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เพราะการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในเขตร้อนนำมา ซึ่งปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ทำให้เรามองว่าธุรกิจนี้ไม่คุ้มทุน โดยจะไม่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบที่นำมาผลิตไบโอดีเซลของปตท.ในประเทศไทย เพราะปัจจุบันเราใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด

“ตอนที่เราเข้าไปลงทุนนั้น เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงมากเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างไบโอเซลที่ผลิตจากปาล์มมีการเติบโตสูง ขณะเดียวกันอินโดนิเซียเองก็เป็นผู้ผลิตปาล์มอันดับ 1 ของโลกมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกเพราะอยู่แนวเส้นศูนย์สูตร และมีพันธุ์ที่ดี มีปริมาณน้ำเหมาะสม แต่ต่อมาราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มลดลง ไม่ขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับปตท.เข้าไปในธุรกิจนี้หลังคนอื่น ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ด้วย และยังเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้บอร์ดปตท.ให้ถอนการลงทุนออกมาในที่สุด”

ทั้งนี้การถอนลงทุนดังกล่าวสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE SG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในประเทศสิงคโปร์ เสร็จสิ้นกระบวนการขายหุ้น และจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท Chancellor Oil Pte. Ltd. (CO) ที่ถืออยู่ 77.56% ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ เพื่อดำเนินธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันและผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนิเซีย

Avatar photo