COLUMNISTS

เศรษฐกิจฐานรากจุดอ่อนรัฐบาล

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
30

คนในทำเนียบมีความสุขกันโดยถ้วนหน้าโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวถึง 4.8 % สูงสุดในรอบ 5 ปี แย้งกับผลสำรวจสำนักต่างๆที่เผยแพร่กันออกมาก่อนหน้านี้ ที่คะแนนด้านเศรษฐกิจรัฐบาลค่อนข้างต่ำ

เช่นเดียวกับ ดร.สมคิด จาตุรีศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ถือโอกาสนี้ ประชาสัมพันธ์กับนักข่าวเช่นกันว่า ตอนเข้ามา (ร่วมรัฐบาล) “ขยายตัวแค่ 1 %” พร้อม โอ่ ต่อด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่เกิดจากการทำงานหนัก ก่อนฟันธงอย่างมั่นใจว่าปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่า 4% แน่ๆ

แม้เศรษฐกิจหลังคสช.และรัฐบาลประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศขยับขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งทำสถิติใหม่ดังที่กล่าวถึงข้างต้น แต่โจทย์ที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกคือ กลุ่มคนฐานรากพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ กลับไม่มีความรู้สึกร่วมกับความเป็นไปทางเศรษฐกิจเชิงบวกดังกล่าวมากนัก

A11

เสียงบ่นเรื่องปากท้องยังดังอยู่ ตัวดร.สมคิดรองนายกฯ เองก็เคยยอมรับว่า เศรษฐกิจโตจริงแต่ยังไปไม่ทั่วถึงคนกลุ่มใหญ่ พร้อมประกาศจะดูแลคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น

ตลอด 4 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ถึงรัฐบาลไม่เอาประชานิยม แต่ก็ทำงบฯเพิ่มเติม เพื่อจัดทำโครงการสำหรับกลุ่มฐานรากอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศย้ำอีกครั้งว่า ต้องเติมเศรษฐกิจฐานราก โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางฯเพิ่มเติมอีก 150,000 ล้านบาท งบฯ เพิ่มเติมก้อนนี้ แยกตามวัตถุประสงค์ได้ 3 ส่วน

ส่วนแรก สร้างโอกาสและอาชีพ 76,000 ล้านบาท ส่วนที่สอง ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 24,000 ล้านบาท และ ส่วนที่สาม ใช้คืนเงินคงคลัง 50,000 ล้านบาท

สรุปคือจะมีเงินกระจายเข้าระบบ 100,000 ล้านบาทตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงกันยายนปีนี้

หากไล่ดูรายกระทรวงๆที่ได้รับการจัดสรร(งบฯเพิ่มเติม) สูงสุดคือ กระทรวงมหาดไทย 31,000 ล้านบาท รองลงมา กระทรวงการคลัง 24,000 ล้านบาท ตามด้วย กระทรวงเกษตรฯ 22,000 ล้านบาท

ตามแผนที่เจ้ากระทรวงแจกแจงงบฯ ที่ได้รับจะนำไปใช้ในโครงการสร้างโอกาส และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่กระทรวงต่างๆ เสนอกันขึ้นมา อาทิ ตั้งแต่จัดงบให้ 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 200,000 บาท รวมทั้งชุมชนเมือง ดูแลคนจนผ่านโครงการ”สวัสดิการคนจน” 7.2 ล้านราย ฯลฯ ยกเว้นกระทรวงการคลังที่ใช้กับโครงการสวัสดิการคนจน

เป้าหมายในการจัดทำงบฯเพิ่มเติมของรัฐบาล คือ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ พัฒนาทักษะและสร้างโอกาสให้กลุ่มคนฐานราก ทำหน้าที่เป็นหีบห่อให้ชุดนโยบายดังกล่าวดูสวยงาม และได้รับการยอมรับ

แต่ในทางปฏิบัติ งบประมาณก้อนโตที่อัดผ่านชุด นโยบาย ฝึกอบรม และจัดซื้อจัดจ้างจิปาถะต่างๆนั้น จะ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตรงกับความต้องการชาวบ้าน หรือไม่ และ ผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร คือคำถามที่รัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่ได้รับจัดสรรงบประมาณฯไปควรตระหนักถึงให้มาก

ประเด็นการจัดสรรงบเพิ่มเติมฯ นอกจากจะช่วยให้จีดีพีขยับขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลชอบนำมาแถลงเพื่อ สร้างความยอมรับในการใช้งบประมาณแล้ว ประสิทธิภาพ การใช้งบฯ และ ผลลัพธ์จากการทำตาม แผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ขยายโอกาส หรือ ปฏิรูปการผลิตตาม แผนชุดใหญ่ที่กระทรวงต่างๆเสนอกันมานั้น ส่งผลให้ทักษะ และฐานะคนฐานราก เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกหรือไม่ มีความสำคัญเช่นกัน

อย่าลืมว่า รัฐบาลทำงบฯเพิ่มเติม เพื่อการนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว