Economics

กฟผ.มุ่งนวัตกรรมโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขีดความสามารถ แข่งเอกชน

กฟผ. เดินหน้านวัตกรรม มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง เน้นสร้างศักยภาพโรงไฟฟ้าใหม่ให้ยืดหยุ่น พร้อม 5 คุณสมบัติ สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที พร้อมแข่งกับเอกชน พร้อมผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เตรียมถ่ายทอดนวัตกรรมให้ 3 อู่ที่มีความพร้อม 

วันนี้ (7 พ.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน ” EGAT INNOVATION SHOWCASE 2019 “ ภายใต้แนวคิด “ EGAT Digital Transformation ” โดยนำนวัตกรรมมาจัดแสดงกว่า 36 ผลงาน มุ่งกระตุ้นพนักงานสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า ให้มีความมั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

3042019 ๑๙๐๔๓๐ 0024
วิบูลย์ ฤกษ์ศฺิระทัย

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลความมั่นคงระบบผลิตและส่งไฟฟ้า เห็นถึงความสำคัญ ของการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมศักยภาพองค์การ โดยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า อาทิ ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ สามารถประมวลผล และคำนวณแนวทางสั่งการกลุ่มโรงไฟฟ้าที่กำหนด ให้มีกำลังผลิตที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น (Real Time) ช่วยรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบส่งกำลังไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ โครงการนี้ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

IMG 20190507 100413

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีนวัตกรรม ชุดตรวจสอบการลัดวงจรในโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor Short – Turn Detector) ช่วยแก้ปัญหาการลัดวงจรในโรเตอร์ที่อาจส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนสูง และสร้างความเสียหาย แก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ โดยชุดตรวจสอบทำให้สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลดค่าสูญเสียโอกาสในการขายไฟคิดเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท มีการติดตั้งใช้งานชุดตรวจสอบแล้วกว่า 11 เครื่อง

ระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์ และมอนิเตอร์ริ่ง (Real – time Transformer Monitoring & Diagnostic System) เป็นการพัฒนาระบบมาช่วยตรวจสอบสภาพของหม้อแปลงให้ได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องปลดหม้อแปลง สามารถแจ้งเตือนก่อนที่หม้อแปลงจะเกิดความเสียหายได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้สามารถจัดแผนการบำรุงรักษาหม้อแปลงได้อย่างเหมาะสมและลดต้นทุนการบำรุงรักษา ปัจจุบันมีการติดตั้งให้กับหม้อแปลง 500 กิโลโวลต์ จำนวน 3 เครื่อง และเตรียมติดตั้งเพิ่มอีก 87 เครื่อง โดยทั้ง 2 ผลงานสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินจากเวทีนานาชาติในการประกวด “47th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 10 – 14 เมษายนที่ผ่านมา

 

20190204 MIS01 02
จิราพร ศิริคำ

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการ นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวเสริมว่าโรงไฟฟ้าในอนาคตของกฟผ. จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยึดหยุ่นสูง เพื่อให้สามารถสู้กับโรงไฟฟ้าเอกชนได้ ซึ่งกฟผ.ได้คิดค้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอง  และพร้อมนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.แล้ว ทำให้โรงไฟฟ้าที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม มีคุณสมบัติใหม่  5 ด้าน  ดังนี้

1.จำนวนครั้งนำเครื่องขึ้นลงต่อปี จาก 48 ครั้ง เป็น 100 ครั้ง

2.เวลาที่ใช้นำเครื่องขึ้นผลิต จาก 360 นาที เป็น 200 นาที

3. เวลาที่ใช้หยุดเครื่องขึ้นลง 45 นาที จาก 65 นาที

4. อัตราการเพิ่มลดของการผลิต 50 เมกะวัตต์ต่อนาที จากเดิม 16 เมกะวัตต์ต่อนาที

5.ลดการผลิตต่ำที่สุด 30% จากเดิม 55%

ทั้งนี้กฟผ.ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาหลายปี โดยตั้งงบประมาณสำหรับวิจัยและพัฒนาปีละ 1,000 ล้านบาท และเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มบทบาทของงานนวัตกรรม มีผู้ช่วยผู้ว่าการ นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ขึ้นมาเป็นตำแหน่งใหม่ จากเดิมเป็นระดับผู้อำนวยการฝ่าย การผลักดันนวัตกรรมของกฟผ.ทำให้เรามีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ออกมา และได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากว่า 60 ผลงาน

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่กฟผ. พัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) หรือ รถ i-EV นั้น ได้ทดสอบในรถ Nissan Almera แล้ว 2 คัน กำลังทำการทดสอบกับรถยนต์ Toyota Altis 2 ค้น จะเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีฟรีให้กับอู่ดัดแปลงรถยนต์ที่มีความพร้อม 3 อู่นำร่องได้ประมาณต้นปีหน้า ซึ่งก็มีอู่ที่เคยดัดแปลงรถให้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี)ให้ความสนใจ เพราะตอนนี้ลูกค้าที่มาติดตั้งเอ็นจีวีหายไป จึงต้องการหันมาดัดแปลงรถไฟฟ้ามาทดแทนตลาดที่หายไป

“เราเน้นดัดแปลงในรถซีดาน เป็นรถขนาดกลางที่คนไทยใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ค่าติดตั้งบวกค่าแรงไม่เกิน 200,000 บาทไม่รวมแบตเตอร์รี่ หากรวมราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 300,000-400,000 บาท ซึ่งยืนยันว่าคุ้มค่า เพราะหลังจากดัดแปลงแล้วจะใช้ต่อไปได้อีกราว 5-10 ปีขึ้นอยู่กับการใช้งาน ขณะที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่เครื่องยนต์เท่าๆกัน ราคาขายอยู่ที่ 3-7 ล้านบาท ในส่วนของ กฟผ.กำลังหารือกับสวทช.เพื่อหาโมเดลทางธุรกิจที่จะทำร่วมกันต่อไป ”  

IMG 20190507 091120

สำหรับการจัดงาน  EGAT INNOVATION SHOWCASE 2019 ครั้งนี้ มี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Digital Transformation is not just IT” รวมถึงมีการบรรยายพิเศษด้านนวัตกรรมพลังงานโดยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ ยังได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมกว่า 36 ผลงาน รวมถึงนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง รถ i-EV มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้รับองค์ความรู้ และรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป

 

Avatar photo