Opinions

ส่อง ‘สังคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น’ สะท้อนอะไรบ้าง ?

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
25645

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน ดิฉันได้มีโอกาสไปทริปถ่ายภาพกับก๊วนเพื่อนสนิท (ช่างภาพมือสมัครเล่น) ตะลอนเมืองต่างจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โอซาก้า, นาโกย่า, ทากายาม่า, ชิรากาว่าโกะ,คานาซาว่า พอดีช่วงที่ไปอากาศค่อนข้างเย็นเล็กน้อยประมาณ 5 องศา บางสถานที่ลมแรง ก็มีหนาวอยู่เหมือนกัน การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สามในรอบหลายปี สำหรับเพื่อนๆ ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น แน่นอน สิ่งที่พวกเราสังเกตได้ชัดเจน นอกจากเป็นประเทศที่สะอาด และมีระเบียบวินัยที่เคร่งครัดแล้ว นั่นคือ ประชากร พนักงานบริการ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟชินกาเซน คนขายตั๋วในสถานี คนขับแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งพนักงานบริการเสริฟอาหารในร้านอาหาร มักเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกินราว 60 ปี!

อย่างที่เราท่านทราบดีแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุก่อนประเทศไทยหลายปีเลยทีเดียว ในวันนี้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้ดิฉัน จะพามาดูกันว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในวันนี้เกี่ยวโยงกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมากัน เพราะในวันนี้ญี่ปุ่นมีผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี แล้วเกือบ 68,000 คน (อ้างอิง : www.npr.com)

AC18AB75 422C 4F01 B01E 51B9CF46E77D

ถ้าพูดถึงสังคมสูงอายุ ประเทศอันดับต้นๆ ที่เรานึกถึงก็คือประเทศญี่ปุ่น เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ติดอันดับสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ปี 2513 (คือมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7%) และได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2537 (คือมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีเกิน 20%) และมีแนวโน้มจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 39% ในปี 2593 และด้วยสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เพราะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำติดต่อกันมาตลอด และเมื่อปี 2017 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของเด็กทารกต่ำสุดคือประมาณ 941,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ประมาณ 3% และในปี 2017 ที่ผ่านมาเช่นกัน ถือเป็นปีที่ญี่ปุ่นทำลายสถิติตัวเองกับการมีผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกิน 100 ปี มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ประชากรอายุเกิน 100 ปีมากกว่าประเทศใดๆ ในโลกใบนี้!

นั่นเป็นสิ่งที่ดิฉันไม่แปลกใจเลยว่า มองไปทางใด เราจะเห็นผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรถไฟ คนขายของในห้างร้านในสถานีรถไฟ คนกวาดขยะ ตลอดเวลาทุกสถานที่ แต่สิ่งที่ใกล้ตัวและชื่นชมก็คือ โชเฟอร์คนขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ขับรถเร็วมาก (อย่างกะวัยรุ่นในบ้านเรา) ซิกแซก เข้าทางลัดนั่นโน่นนี่ จนลืมไปเลยว่า รถคันนี้ขับโดยผู้สูงอายุ พวกเราเลยถึงที่หมายสบายผิดกัน ส่วนวันอื่นๆ พวกเราก็ใช้บริการของรถไฟชินกาเซน ซึ่งแน่นอนพนักงานตรวจตั๋วบนรถไฟก็เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน หรือแม้แต่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือ ศาลเจ้า ที่มักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวสูงอายุ หรือแม้แต่สวนสาธารณะ ที่เราจะเห็นผู้สูงอายุ สูงวัย เดินเที่ยวออกกำลังกายกันได้เสมอ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ผู้สูงอายุ ยังมีเรี่ยวแรง และมีใจอยากทำงานอยู่!

เป็นความโชคดีที่ในทริปครั้งนี้ พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ณ เมืองโอซาก้าอีกด้วย หนึ่งในสถานที่ที่มีความประทับใจ และอยากจะแชร์ให้ท่านผู้อ่านฟัง คือ การเข้าไปศึกษาดูงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า กรีนไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับดูแลผู้สูงอายุ ระดับพรีเมี่ยมของสังคม Hyper Aging Society ในญี่ปุ่น พรี่เมี่ยมอย่างไร ? Hyper อย่างไร ใจเย็นๆ ดิฉันจะค่อยๆ เล่าให้ฟังกัน

16F07B22 21F7 4FEA 9B37 77AFEDE5B108

เมืองโอซาก้า ดูแลผู้สูงอายุระดับพรีเมี่ยม

บริษัท กรีนไลฟ์ จำกัด ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ให้การบริการรับดูแลผู้สูงอายุระดับพรีเมี่ยม ตั้งอยู่ในกรุงโอซาก้า ก่อตั้งเมื่อปี 1994 มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 2,634 คน โดยแบ่งเป็นพนักงานประจำ 1,581 คน โดยมีจำนวนเตียงมากถึง 4,373 เตียง และมีสถานพยาบาลทั้งสิ้น 68 แห่ง เช่น Green Life Sendai จำนวนเตียง 300 เตียง, Medis Kudatsu จำนวนเตียง 45 เตียง, C-Hearts Koshigaya จำนวนเตียง 68 เตียง และ Welhouse Senrichuo จำนวนเตียง 200 เตียง เป็นลำดับ จะสังเกตเห็นได้ว่า สำนักงานใหญ่อย่าง Green Life Sendai ถือเป็นศูนย์บำบัดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นบ้านพักคนชราของเอกชนที่ใหญ่ที่สุด โดยมีค่าดูแลต่อหนึ่งคนผู้สูงอายุโดยประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งในราคานี้รวมในเรื่องการดูแลทั้งหมด พร้อมยาสำหรับโรคส่วนตัว และแพทย์ประจำตัว (ที่จำเป็น)

ถึงแม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Aging Society ก็มีการแข่งขันกันมากที่สุดด้วย

ถึงแม้ว่า พวกเราจะทราบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด หรือที่เรียกว่า Hyper Aging Society แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Aging Society ก็มีการแข่งขันกันสูงมากกว่าทุกประเทศด้วยเช่นกัน ถือเป็นสนามธุรกิจ ที่มีความหอมหวน ฝุ่นตลบกันพรึบพรึบ และแน่นอน หลายคนต่างมองเห็นเป็นโอกาสแทบทั้งสิ้น แต่ใครที่จะมาดูแลบริหารให้ดีนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับ Mr. Kenji – ประธานบริษัท กรีนไลฟ์ จำกัด ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ในเรื่องของกลยุทธที่นำมาปรับบริหาร ดังนี้

  • Human เน้นให้พนักงานมองถึงความสำคัญในเรื่องการบริการ ต้อง win-win ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ (ผู้ขาย) กับสังคม เพิ่มให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ รับรู้ ในการบริการที่แตกต่างกันไป เพราะเราต้องเจอกับหลากหลายคน หลากหลายนิสัย จึงจำต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างของผู้สูงอายุแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน พนักงานที่มาทำงานด้านการแพทย์ ต้องเน้นคำนึงถึงเรื่องจิตสำนึก เน้นการให้บริการ ให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีปรับปรุง และส่งให้ไปอบรมเพิ่มเติม เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะแพ้คู่แข่งได้
  • Service ให้ทิศทางและมุมมองการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ผู้สูงอายุที่จะเข้ามาอยู่พำนักด้วยกัน ให้พวกเขารู้สึกว่า อยู่ที่นี่ พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย และสนุกกับเพื่อนที่อยู่วัยเดียวกัน อาจจะมีการสร้างอีเว้นท์ร่วมกัน เช่น วันเกิด จัดการร้องเพลงร่วมกัน การจัดกิจกรรมจัดดอกไม้ร่วมกัน กีฬาสี ฯลฯ ทำให้เกิดเป็นสังคมเล็ก ๆ อย่างมีความสุข ดังนั้น ผู้สูงอายุที่มีความสนใจ และเข้ามา visit จะเห็นภาพแห่งความสุขที่มาอยู่ที่นี่ร่วมกัน ทำให้พวกเขา ก็อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ Green Life แห่งนี้ด้วย
  • Money เงิน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเสมือนกัน การดูแลเอาใจใส่ใน พนักงาน ให้ความสำคัญกับทุกอย่าง โดยเฉพาะกับคน หนึ่งชีวิต หนึ่งคน หนึ่งบาท หนึ่งหน้า หนึ่งความรู้สึก ทุกสิ่งเราให้ความสำคัญเท่าเทียมกันหมด และยอดขายที่ดี จะตามมาเอง
  • Information พยายามหาตลาดใหม่ เพื่อลงทุนการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เพิ่ม Channel มากขึ้น พยายามบริหารยอดกำไร ให้เพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยกลยุทธการดูแลเอาใจใส่พนักงาน ไปพร้อม ๆ กับการหาตลาดใหม่การหา demand ใหม่ ให้เพิ่มขึ้นทุกปี

หนีไม่พ้น สุขภาพเสื่อมตามวัย

ไม่เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังก้าวสู่ Aging Society ปัญหาสุขภาพ ความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันสูง ฯลฯ และโรคที่เป็นสาเหตุทำให้สมรรถภาพร่างการเสื่อมถอย คือ ปวดหลัง ปวดคอ ข้อเสื่อม เหล่านี้เป็นต้น

ธุรกิจเกี่ยวกับ “สุขภาพ” บูมมากในญี่ปุ่น

ข้อนี้แทบไม่ต้องสงสัยเลย เพราะนอกจากเรื่องงานแล้ว ด้านการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน สังเกตได้เลย คนสูงอายุในญี่ปุ่นจะพยายามหาอะไรทำอยู่เสมอ เคยมีเพื่อนสนิทถามมาเหมือนกันว่า “แต่ละวัน นอกจากทำงานแล้ว คนสูงอายุญี่ปุ่น พวกเขาทำอะไรกัน” หากพวกเขาไม่ทำงานประจำ ก็จะพยายามหากิจกรรมทำ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น ทำกิจกรรมอาสาสมัคร เรียนรู้งานฝีมือ เรียนรู้วิธีการชงชา ไปจนถึงการออกกำลังกายแบบจริงจัง ที่ว่าออกกำลังกายแบบจริงจังนี่ เพราะว่า ไปดูได้เลยในฟิตเนสญี่ปุ่น ถ้าสังเกตุด้วยสายตา จะเห็นว่า อายุเฉลี่ยคนที่มาเล่นฟิตเนส ไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ปี มีทั้งการเต้นแอโรบิก สเตป เต้นซุมบ้า แม้กระทั่งการลีลาศจังหวะช้า ๆ จนถึงเร็ว คาดว่าถือเป็นกลุ่มคนที่มีเวลามากที่สุด ทำให้ธุรกิจสุขภาพในญี่ปุ่นต่างพลอยฟ้าพลอยฝนดีไปด้วย เพราะมีตลาดของผู้สูงวัยจำนวนมาก

ญี่ปุ่น ขาวดำ1

เหงา โดดเดี่ยว เสียชีวิต

แน่นอน เมื่อไร้ลูกหลาน ไร้ทายาท ความโดดเดี่ยวก็ถามหา ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต้องอาศัยตามลำพัง และเสียชีวิตตามลำพังเช่นกัน คนที่พบศพเป็นคนแรก ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนบ้านระแวกเดียวกัน ซึ่งน่าหดหู่ โดดเดี่ยวมากจริง ๆ

ไม่เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจะเริ่มมีคนวัยทำงานลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากตัวเลขของ HSBC พบว่า ประเทศเยอรมัน และจีน ต่างก็พบปัญหาเดียวกัน ส่วนด้านองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ญี่ปุ่นจะมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) แซงหน้าเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกในปี 2047 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นสองพันล้านคนในปี 2050 อย่างแน่นอน และญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดกำลังซื้อ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรงอย่างมาก ถ้ายังไม่มีนโยบายรับชาวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นเพิ่ม

สำหรับประเทศไทยเราเองนั้น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า พ.ศ.2564 ควรน่าจะมีการส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน จะเริ่มมีบางองค์กรเริ่มแล้วเช่น บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา รับผู้สูงอายุมาทำงานในบริษัทในเครือ หรือ ร้านหนังสือเครือข่ายซีเอ็ด แต่ถ้ามีหลายองค์กรร่วมกันมากกว่านี้ พร้อมกันรัฐบาลช่วยสนับสนุนมากขึ้น ก็จะดีไม่น้อยในการแก้ปัญหาได้ใช้สมรรถภาพการทำงานของผู้สูงอายุได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ เพราะอย่าลืมผู้สูงอายุ ประสบการณ์ในการรับมือปัญหามีพร้อม อาจจะเป็นการทำงานร่วมกับคนวัยทำงานเพื่อเสริมจุดที่ด้อย จุดที่เด่น แชร์ส่วนที่ขาดร่วมกันได้ อาจจะทำเป็นสัญญาจ้างงานปีต่อปี แม้ไม่ใช่พนักงานประจำ แต่แรงงานสูงวัยยังมีส่วนช่วยให้เกิดผลิตผลบวก ที่ไม่ใช่ศูนย์ ยังสามารถสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึงรายได้จากลูกหลาน และยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจ สุขภาพจิตดี อีกด้วย

(ปล. ภาพหน้าปกครั้งนี้ ดิฉันถ่ายภาพเอง รู้จักคุณลุงชาวญี่ปุ่นทั้งสองโดยบังเอิญ คุณลุงทั้งสองอายุไล่เลี่ยกันประมาณ 70 กว่าปี อาชีพตัดชุดกิโมโนมาเกือบ 40 ปี ทำมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ร้านนี้อายุเกือบ 100 ปีได้ ตั้งอยู่แถวย่านตลาดเก่า เมืองโอซาก้า คุณลุง เล่าว่า กำลังจะโล๊ะกิจการร้านนี้ เลยเศษชิ้นผ้ากิโมโน ที่สามารถมาทำผ้าพันคอได้ ทีแรกกะอุดหนุนแค่ 2 ผืน ปรากฏคุยกันถูกคอ จัดไปเลย 14 ผืนมาฝากเพื่อนๆ คนไทยด้วยค่ะ ถือเป็นคุณลุง สูงวัยชาวญี่ปุ่นที่น่ารักมากมากค่ะ)

(อ้างอิง : www.npr.com, www.i-kinn.com/2019960, www.who.int/features/factfiles/ageing/en/)

#KINN_Biopharma
#คินน์เพื่อชีวิตยืนยาวและยั่งยืน