Finance

ปาดน้ำตา..โบรกชี้หุ้น ‘ทีวีดิจิทัล’ รอดยาก!!

แม้ภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยา เพื่อประคองความอยู่รอดของผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเท่านั้น และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเดิมๆที่ทำธุรกิจทีวีเพียงอย่างเดียว และไม่มีธุรกิจอื่นรองรับ

หลังจากที่ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 ออกมา หลายๆ บริษัทยังต้องประสบกับภาระการขาดทุน แม้ว่าล่าสุด คสช. มีคำสั่งให้ใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยให้ กสทช. ลดค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (MUX) ลง 50% ของค่าเช่าทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี ให้กับผู้ประกอบการทุกราย จะช่วยลดภาระและเติมสภาพคล่องทางการเงินได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การดำเนินธุรกิจในระยะยาวจะพ้นภาวะการขาดทุนได้ง่ายๆ ดังนั้นหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัล จึงยังไม่น่าลงทุนในตอนนี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลย้อนหลัง 4 ปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย กลุ่มทีวีดิจิทัล พบว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของหุ้นทีวีดิจิทัล ซึ่งสามารถสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อหุ้นทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี พบว่า หุ้นทีวีดิจิทัลที่มีมาร์เก็ตแคปลดลง ประกอบด้วย หุ้น BEC ลดลง 65.57%  หุ้น NEWS ลดลง 43.26% หุ้น NBC ลดลง 73.13% หุ้น NMG ลดลง 73.30%

ส่วนหุ้นทีวีดิจิทัลที่มีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น ได้แก่ หุ้น MONO เพิ่มขึ้น 60.08% หุ้น WORK เพิ่มขึ้น 18.50% หุ้น RS เพิ่มขึ้น 114.27% หุ้น MCOT เพิ่มขึ้น 20.01% หุ้น GRAMMY เพิ่มขึ้น 0.56%  หุ้น AMARIN เพิ่มขึ้น 172.45%

ถกล บรรจงรักษ์ ” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า มาตรการเยียวยาที่ออกมามองว่าจะทำให้สภาพคล่องของผู้ประกอบการขนาดเล็กดูดีขึ้น ต่อลมหายใจได้ในระยะสั้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็พร้อมที่จ่ายเงินอยู่แล้ว แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งเป็นเพียงผลดีเชิงจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น

การฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัล ยังไม่น่าจะได้เห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้  เพราะเมื่อพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส1/61ที่ออกมา ก็ยังดูไม่ดี ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่ยังไม่ชัดเจนและเติบโตพลาดเป้า จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5-6% แต่ในปีนี้ผ่านมา 4-5 เดือนการเติบโตยังติดลบถึง 7% ดังนั้นปีนี้ทั้งปี ภาพรวมของเม็ดเงินโฆษณาคงทำได้แค่ระดับทรงตัว

“ภาพรวมการลงทุนหุ้นทีวิดิจิทัลนั้น มองว่าการฟื้นตัวคงยังไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ และฝ่ายวิจัยก็ลดน้ำหนักการลงทุนเพราะยังไม่เห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการ แม้ว่าช่วงปลายปีอาจจะมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากฐานกำไรของปีก่อนต่ำ เพราะมีเหตุการณ์ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหยุดชะงักไป ”

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าหุ้นทีวีดิจิทัล ระยะยาวยังรอดยาก ซึ่งการที่รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเป็นแค่  การแก้ปัญหาระยะสั้น  และมาตรการที่ออกมาเป็นไปตามที่คาดบางส่วน โดยสิ่งที่ตรงกับที่คาดไว้ก่อนหน้าคือ ให้ กสทช. ลดค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (MUX) ลง 50% ของค่าเช่าทั้งหมด เป็นเวลา 2 ปี ให้กับผู้ประกอบการทุกราย

ส่วนข้อแตกต่างคือ  การเลื่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ให้พักชำระหนี้ได้ไม่เกิน 3 ปี   เฉพาะผู้ที่แจ้งความประสงค์จะขอพักชำระหนี้เท่านั้น (ไม่ได้ให้สิทธิ์กับผู้ประกอบการทุกราย) ซึ่งข้อแตกต่างอีกประการ คือ ไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนหรือโอนใบอนุญาต ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเดิม ซึ่งต้องไม่ใช่ชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้เฉพาะรายใหม่ที่สนใจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน (กระแสเงินสดดำเนินงาน หรือ CFO ติดลบ) อาทิ MCOT, GRAMMY, AMARIN, NATION, NEWS เป็นต้น  ซึ่งเป็นเหตุมีการควบรวมกิจการ 2-3 กลุ่ม คือ กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ร่วมทุนใน AMARIN และ GRAMMY กลุ่มปราสาททองโอสถ ร่วมทุนใน PPTV และ GRAMMY  กลุ่มจิราธิวัฒน์ ร่วมทุนใน POST

ขณะที่บางรายที่มี  CFO  เพียงพอ เช่น BEC, WORK, MONO, RS   น่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องได้ในระยะสั้น  ส่วนที่เหลือน่าจะต้องหาพันธมิตร หรือ ผู้ร่วมทุนเพื่อการอยู่รอด  (ยกเว้น TNN ที่เป็นของกลุ่ม CP Group)

โดยสรุปการลงทุนในหุ้นทีวีดิจิทัล ต้องพิจารณาความอยู่รอดในระยะยาว ซึ่งมิใช่มีการพัฒนา contents ให้สดใหม่ ตรงกับตลาดตลอดเวลาเท่านั้น แต่ต้องมีแผนธุรกิจเชิงรุก โดยเฉพาะการต่อยอดการทำธุรกิจเพิ่มเติมเช่น over the top (OTT) เนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมรับชมโทรทัศน์ที่ลดลงเหลือ 2 ชม. ต่อวัน  แต่กลับนิยมชมทางออนไลน์เพิ่มขึ้น (ผ่านมือถือ, แท็ปเล็ต) วันละ 4 ชม.  เช่น ผ่าน Facebook, Youtube, Online video (ข้อมูลของ We are social)  เช่น BEC พัฒนาช่องทางของตนเองผ่าน Mello เป็นต้น ความนิยม OTT ทำให้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 13% จากที่อยู่ในระดับ 5% ในปี 2555 โดยไหลจากโฆษณาแบบเดิม ๆ  (Analog TV, สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ ลดลง)

ด้านบล.ฟินันเซียไซรัส มีความเห็นว่าคสช.ออกคำสั่ง ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้พักชำระหนี้ไม่เกิน 3 ปี ลดค่าเช่าโครงข่าย 50% 2 ปี เป็นไปตามที่กสทช. เคยเสนอก่อนหน้านี้  เป็นบวกต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทุกราย แต่ไม่มีผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันสูงอยู่แล้ว ฝ่ายวิจัย เคยประเมินว่า BEC ได้ประโยชน์มากสุด เนื่องจากถือใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 3 ใบ (HD, SD, Family) เป็นโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อคาดการณ์กำไรปี 2561 ประมาณ 20% ตามด้วย RS WORK และ MCOT มีผลดีต่อประมาณการ 1-3%

ขณะที่ราคาเป้าหมายสำหรับ BEC จะเพิ่มเป็น 12 บาท จากเดิม 10.50 บาท, หุ้นMCOT เพิ่ม 0.14 บาท จากเดิม 8.50,หุ้นRS เพิ่ม 0.80 บาท จากเดิม 32, และ หุ้นWORK จะเพิ่ม 2 บาท (กำลังทบทวนราคาเป้าหมาย) และหุ้นเด่นในกลุ่ม ยังคงเป็น RS  ส่วน BEC และ WORK แค่แนะนำให้ถือลงทุน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight