Economics

ปี 62 ได้เวลารถยนต์ไฟฟ้าพุ่งทะยาน!

“TAKE OFF”  แล้ว สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะเวลานี้มีหลายค่ายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาทำตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะ ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2019 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ที่ผ่านมา มีราว 10 ค่ายที่เปิดตัวในงานนี้

แต่ด้วยราคาที่ยังสูงหลักล้าน หรือไม่ก็หลักแสนปลายๆ การตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจสะดุด สำหรับคนทั่วไป การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เลยตั้งต้นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง หาแนวทางให้ราคาลดลง  และก็ได้ผลมาตามลำดับ จากการจับมือวิจัยพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)มาร่วม 10 ปี

มอบจักรยาน 2

ตั้งแต่โครงการวิจัยยานยนต์ ระยะที่ 1 ( 2553 – 2559) โดยทำการดัดแปลงรถยนต์ 2 รุ่น คือ Honda Jazz และ Toyota Vios ซึ่งได้มีการส่งมอบรถให้กับ กฟผ. นำไปใช้งานจริงแล้ว ต่อยอดมาถึงโครงการระยะที่ 2 (2560 – 2563) ภายใต้ “โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลง และคู่มือดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project)” เพื่อขยายผลไปสู่การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์รุ่นอื่น ๆ เพื่อพัฒนา และนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ โครงการนี้ส่งมอบรถยนต์แล้วในรุ่นอีโคคาร์ Nissan Almera  ปัจจุบันกำลังทดสอบรถตลาดขนาดกลางอย่าง Toyota Altis

IMG 20190430 152425

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. เล่าวว่า กฟผ.เห็นว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” จะช่วยลดมลพิษในภาคขนส่งได้อย่างดี เพราะไม่ปล่อย CO2 และน่าจะได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะประหยัดค่าเชื้อเพลิง เพียงแต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยราคาที่ไม่แพงเกินไป และเป็นรถที่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เราจึงทำการค้นคว้าวิจัยนำรถบ้านที่ใช้น้ำมันมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และทำการทดสอบรถหลายๆรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นรถตลาดที่ประชาชนใช้งานจำนวนมาก เพื่อให้การพัฒนาวิจัยของเรานำไปใช้งานได้จริง

โครงการที่เราจับมือกับสวทช.มุ่งทำการทดสอบเปลี่ยนรถยนต์ใช้แล้ว ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ( Battery Electric Vehicle : BEV ) โดยเราตั้งโจทย์ไว้ 3 ส่วน ก็คือ

1.ค่าใช้จ่ายไม่สูง อุปกรณ์และค่าแรงไม่เกิน 200,000 บาทต่อคัน

2.ส่งเสริมให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนหลักๆ และผลิตชุดสำหรับดัดแปลง ( Kit) ขึ้นในประเทศ (Local Content)

3. ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการที่สามารถดัดแปลงรถยนต์ ICE เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เป็นธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ให้กับประเทศ

รถอีวี กฟผ e1557130651931

สำหรับการปรับเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า ดร.จิราพร เล่ารายละเอียดเป็นความรู้ว่า มี 9 ส่วนที่มีการดัดแปลง ประกอบไปด้วย

  • พัฒนาการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า แทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน
  • พัฒนาการใช้ระบบส่งกำลัง (เกียร์)
  • พัฒนา Engine Emulated ECU (EEU)
  • พัฒนาระบบช่วยเบรก Vaccuum Pump ไฟฟ้า
  • พัฒนา DC-DC converter แทน Generator (ไดชาร์จ )
  • พัฒนาระบบปรับอากาศ ไฟฟ้า
  • พัฒนาการวางระบบแบตเตอร์รี่หลัก และ BMS
  • พัฒนา On Board Charger
  • พัฒนาระบบระบายความร้อนและปั๊มน้ำไฟฟ้า

 

รถอีวี กฟผ.3 e1557130523443

จากการดำเนินงานมารวม 2 ระยะ ดร.จิราพร ระบุว่า ในระยะ 2 ที่ได้ทดสอบในรถ Nissan Almera 2 คัน พบว่าได้ผลดี ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชม. การชาร์จ 1 รอบ วิ่งได้ 200 กิโลเมตร  ส่วน Toyota Altis  กำลังทดสอบ 2 คันจะสรุปผลได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2562  โดยทั้งหมดกฟผ.จะนำนวัตกรรมมาโชว์ในงาน  EGAT INNOVATION Showcase จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ที่กฟผ.สำนักงานใหญ่ บางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบความก้าวหน้า และต้องการกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนด้วย

“ เป็นเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่ 2553 ที่กฟผ.พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจากเครื่องยนต์สันดาป จากการทำต้นแบบ พบว่าได้ผลดี เรากำลังจะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอีกไม่นานนี้ ”

โครงการระยะ 2 ที่เราพัฒนานั้น ภายในกลางปีหน้า จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังอู่ดัดแปลงรถยนต์ได้ โดยจะนำร่องก่อน 3 อู่ที่สนใจ และสนับสนุนให้เกิดการดัดแปลง 100 คันแรก เพื่อกระตุ้นตลาดโดยอัดแคมเปญที่น่าสนใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจมาดัดแปลงไปพร้อมกันด้วย ขณะนี้กำลังทำการวิจัยตลาด คาดว่าสิ้นปีนี้จะแล้วเสร็จ เพื่อให้เห็นคำตอบว่าผู้บริโภคต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในราคาเท่าไหร่ และต้องการรูปแบบไหน เพื่อให้การทำตลาดตอบโจทย์ผู้บริโภค และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้จริง

“เราเชื่อว่าหากราคารถยนต์ไฟฟ้าไม่แพงเกินไป ผู้บริโภคจะไม่ลังเลเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะราคาที่ประหยัดได้จากค่าเชื้อเพลิง 1 กม.แค่ 60 สตางค์เท่านั้น ขณะที่รถน้ำมันทั่วไป 1 กม. 1.50-3 บาท”

ดร.จิราพร ยอมรับว่า Toyota Altis  นอกจากค่าดัดแปลง และค่าแรงรวม 200,000 บาทแล้วยังมีค่าแบตเตอร์รี่อีกประมาณ 200,000 บาท รวม 400,000 บาท ก็ถือว่าทำให้ผู้บริโภคคิดหนัก แต่เธอ ย้ำว่า ถือว่าคุ้มค่าหากเทียบกับค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้ เพราะการซื้อรถใหม่ในสมรรถนะเท่ากัน ก็ต้องใช้เงินราว 3-7 ล้านบาท ขณะที่หากนำรถมาดัดแปลง เสียเงินหลักแสน ใช้ต่อได้อีกราว 10 ปีขึ้นอยู่กับการใช้งาน

55696

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับ โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้านั้น เธอ ให้คำตอบว่า เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคนจะชาร์จจากบ้าน อย่างไรก็ตามตอนนี้สถานีชาร์จไฟฟ้ากำลังทยอยติดตั้ง ทั้งในหน่วยงานต่างๆที่ติดตั้งให้ประชาชนเข้ามาใช้ เช่น กฟผ. เปิด 23 สถานีให้ประชาชนใช้ฟรี 1 ปี รวมถึงตามห้างสรรพสินค้า และในสถานีบริการน้ำมันก็มี “จึงมั่นใจว่าราคารถเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด” ดังนั้นจึงเชื่อว่าโครงการของเราจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ประกอบกับรัฐบาลก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะมีรถขนส่งมวลชนเปลี่ยนเป็นรถใช้ไฟฟ้าออกมาวิ่งบนท้องถนนมากขึ้นๆ ซึ่งกฟผ.ก็ได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  สวทช. และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  พัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562  และภายในปี 2579 จะพัฒนาได้มากกว่า 4,000 คัน  รูปการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว ดร.จิราพร ย้ำว่า ปีนี้รถยนต์ไฟฟ้าฟันธงได้เลยว่า ” TAKE OFF ” แน่นอน

Avatar photo