Politics

เปิดโฉมหน้า ‘เลขาธิการพรรค’ ทีมผู้ท้าชิงหัวหน้าปชป.

“เลขาธิการพรรค” ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากกับทุกพรรคการเมือง เพราะต้องคอยจัดการเรื่องราวต่างๆ ภายในพรรคให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “แม่บ้าน” ของพรรคกันเลยทีเดียว

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ นอกจากตัวผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว อีกตำแหน่งหนึ่งที่คนให้ความสนใจจับตามองไม่แพ้กันคือตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่ผู้สมัครแต่ละคนเลือกไว้

ในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วัน ก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนเสียงกัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 4 คน คือ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์”  “กรณ์ จาติกวณิช” “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ก็เริ่มเปิดเผยโฉมหน้าของบุคคล ที่ตั้งใจจะเลือกมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคออกมากันแล้ว

สำหรับทีมของ จุรินทร์ นั้น เสนอชื่อ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อดีตเลขาธิการพรรค  ซึ่งทีมนี้ถือว่า เป็นตัวเก็งกันทั้งคู่ เพราะต่างคนต่างมีจุดแข็ง และผู้ใหญ่ในพรรคก็เห็นดีด้วย ขณะที่ กรณ์ เลือกส่ง “ชัยวุฒิ บรรณวุฒิ”  ส่วนอภิรักษ์ทาบทาม  “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” มาเป็นมือขวาของตัวเอง และ พีระพันธุ์  มีกระแสข่าวว่า ได้ไปเชิญ “ถาวร เสนเนียม” ให้มาร่วมทีมในตำแหน่งนี้

แน่นอนว่าโปรไฟล์ “แม่บ้าน” ของผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแต่ละคนย่อมไม่ธรรมดา  เริ่มจาก ชัยวุฒิ สังกัดทีมกรณ์ ว่าที่ ส.ส. ตาก 4 สมัย  ผู้เข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตาก เมื่อปี 2536 และ 2538 ก่อนเข้าสู่สนามการเมืองใหญ่ภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปึ 2539 จนได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ครั้งแรก และต่อมาได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. อีกครั้ง ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548

ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์
ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์

ช่วงปี 2550 ชัยวุฒิถูกรับมอบหมายให้ดูแลการเลือกตั้งในโซน 1 ภาคเหนือตอนบน 11 จังหวัด  ซึ่งเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เสร็จสิ้นลง พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว ได้ประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเงา” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ชัยวุฒิ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเงา

ชัยวุฒิ ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร  ทั้งในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 เขายังได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือ

ต่อมาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553  ชัยวุฒิได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และช่วงปี 2556-2557 ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีบทบาทเป็นผู้ติดตาม สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเวทีชุมนุม กปปส. ที่แจ้งวัฒนะ

เฉลิมชัย ศรีอ่อน
เฉลิมชัย ศรีอ่อน

ในขณะที่ เฉลิมชัย จากทีมสุรินทร์ ก็มีประวัติไม่น้อยหน้ากัน เป็นอดีต ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัย เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2533 – 2543 ก่อนกระโดดเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2544  และได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรก จากนั้นก็ได้รับเลือกเข้าสภาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเลือกในปี 2548 และปี 2550  โดยที่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เฉลิมชัย ยังเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคกลาง แต่เมื่ออภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 หลังจากที่ประชาธิปัตย์ พ่ายการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554  ทำให้เฉลิมชัยซึ่งถือเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นสภาพไป แต่ในวันที่ 6 สิงหาคมปีเดียวกัน สมาชิกพรรคได้ลงมติเลือกเฉลิมชัย ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ถาวร เสนเนียม
ถาวร เสนเนียม

ส่วน ถาวร ว่าที่ ส.ส. สงขลา 6 สมัย ถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเงา ของพรรค ก่อนที่ในปลายปี 2551 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะได้รับการมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และปี 2554 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้

กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556  ได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยมีหน้าเป็นผู้ดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยการชุมนุม รวมถึงติดต่อประสานกับกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ เช่น กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) , เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และสันติอโศก อีกทั้ง ยังเป็นแกนนำที่เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนจะยุบเวทีไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ถูกโจมตีบ่อยครั้ง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

สุดท้าย สาทิตย์ ว่าที่ ส.ส. ตรัง หลายสมัย ผู้เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ รับผิดชอบดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ส่วนเส้นทางการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง ช่วงปี 2538 , 2539 , 2544 , 2548 และ 2550

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2541-2544 เคยทำหน้าที่โฆษกพรรค ซึ่งในปี 2544 นั้น เขายังได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรค ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 เพื่อเข้าร่วมชุมนุมการเมืองกับ กปปส. โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดการชุมนุม และการบริหารเวทีปราศรัยทั้งหมด จนถูกขานนามว่าเป็น “ผู้ใหญ่บ้านราชดำเนิน” หรือ “ผู้ใหญ่สาทิตย์” 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight