Economics

‘กพท.’ สังคายนากฎหมายการบิน! เล็งนำโครงสร้างใหม่รับฟังความเห็นก.ค.นี้

กพท. สังคายนา “กฎหมายการบิน” ทั้งระบบ เล็งนำโครงสร้างกฎหมายใหม่รับฟังความคิดเห็นเดือน ก.ค. นี้ คาดต้องใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จทั้งหมด

จุฬา สุขมานพ2
ภาพจาก CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคมและ CAA International Limited (CAAi) ที่ปรึกษาด้านการบินจากประเทศอังกฤษ วันนี้ (3 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการปรับปรุงโครงสร้างของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบิน  เพื่อจัดระเบียบกฎหมายลำดับรองใหม่ ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ได้แยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินออกเป็น 20 หมวด เช่น การออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการบิน, กฎจราจรทางอากาศ, มาตรฐานการซ่อมบำรุง, สนามบิน เป็นต้น โดยปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งบางฉบับไม่ทันสมัยและประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2497 รวมทั้งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ส่งผลให้นำมาใช้งานได้ยาก

กพท. จึงจะปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายการบินใหม่ทั้งหมด โดยรวบรวมกฎหมายลำดับรองทั้ง 20 หมวดมาอยู่ภายใต้ กพท. เพียงแห่งเดียว เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความยุ่งยาก ขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงกฎหมายลูกให้ทันสมัย สอดคล้องกับภาคผนวกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับใหม่ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ต่อไป

“กพท. คาดว่าจะนำโครงสร้างใหม่ขึ้นรับฟังความเห็นได้ในเดือนกรกฎาคม 2562 จากนั้นจะเริ่มนำกฎหมายลูกในแต่ละด้านขึ้นรับฟังความคิดเห็นได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป คาดว่าใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จทั้งหมด หมวดไหนที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ก่อน ก็จะไปยกเลิกอันเก่าที่ไม่ทันสมัย” นายจุฬากล่าว

สุวรรณภูมิ

นายจุฬากล่าวต่อว่า กพท. จะนำข้อมูลการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายดังกล่าวไปรายงานให้ไอซีเอโอรับทราบ ขณะที่ไอซีเอโอเดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานการบินของประเทศไทยอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า

การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบต่อเนื่องของไอซีเอโอ เพราะแม้ประเทศไทยจะแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินที่มีนัยยะสำคัญกว่า 30 ข้อสำเร็จ จนปลดธงแดงได้แล้ว แต่ก็ยังเหลือข้อบกพร่องที่ไม่มีนัยยะสำคัญอีก 400 กว่าข้อ ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องเสนอให้ไอซีเอโอตวรจสอบด้วย

 

 

Avatar photo