Business

ทุน ‘จีน-ฮ่องกง’ ขนเงินซื้ออสังหาฯไทย

จีน 01

ขณะที่ผู้ประกอบการไทย มองโอกาสการขายอสังหาริมทรัพย์ไทยให้กับลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มจีน และฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังมาแรง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จากจีน-ฮ่องกง ก็รุกเข้ามาเปิดการลงทุนพัฒนาในไทยด้วยเช่นกัน

ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มองโอกาสตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยว่า ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ดังนั้น ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากจีน และฮ่องกง รุกเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สุรเชษฐ์ กองชีพ 1
สุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาด ไรส์แลนด์ (ประเทศไทย)

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากฮ่องกง กล่าวว่า ในสายตาของผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง มองว่าประเทศไทยเป็นทำเลที่น่าลงทุนในด้านนี้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะยังมีช่องว่างทางการตลาดให้เล่นได้ มีความต้องการซื้อทั้งจากคนไทย และลูกค้าชาวจีน ที่เป็นนักลงทุนรายย่อย มีความชัดเจนในด้านกฎหมาย และราคายังไม่สูงมาก

40%คนจีนออกนอกประเทศสนใจลงทุนอสังหาฯ

ในแต่ละปีคนจีนเดินทางมาไทยเยอะมาก ปีที่แล้ว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่มองหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน

ข้อมูลจากฝ่ายจีนที่ได้ทำการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศพบว่า 40% มีความสนใจจะซื้อที่พักอาศัยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นความต้องการซื้อของตลาดชาวจีนรายย่อย

ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ไทยมีข้อได้เปรียบหลายอย่าง คือ คอนโดฯเมืองไทยราคาไม่แพง และเป็นฟรีโฮลด์ ซื้อแล้วได้กรรมสิทธิ์ ต่างกับจีนซื้อคอนโดฯเป็นสัญญาเช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์ และราคาแพงกว่าอสังหาฯในไทยค่อนข้างมาก

“ดิเวลอปเปอร์ไทยทุกราย วิ่งไปหาคนจีนหมดแล้ว ตอนนี้” นายสุรเชษฐ์ กล่าว และว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ขยายไปเปิดสำนักงานที่จีน และฮ่องกง เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวจีน และมีการจัดทัวร์คนจีนเที่ยวไทยเลือกชมอสังหาริมทรัพย์ไทย

ลูกค้าชาวจีนส่วนใหญ่เป็นคนจีนในพื้นที่แถบตะวันออกของจีนด้านที่ติดทะเล ย่านเมืองเซี่ยงไฮ้-กวางเจา เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ตลาดนักลงทุนจีนทยอยเข้ามา 3-4 ปี แต่เพิ่งเห็นภาพการลงทุนชัดเจนในปี 2560 ที่ผ่านมา

นักลงทุนจีนรายย่อยส่วนใหญ่ สนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพราะหากเกินกว่านี้ จะติดปัญหาเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ และเท่าที่พบในตลาดนักลงทุนจีนรายย่อยเหล่านี้ มักซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยด้วยเงินสด เพราะการขอสินเชื่อธนาคารไทยทำไม่ได้ หรือขอได้ก็อาจอนุมัติเพียง 50-60% เท่านั้น ทำให้นักลงทุนจีนรายย่อยส่วนใหญ่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยด้วยเงินสด

ดิเวลอปเปอร์จีน-ฮ่องกง-ไต้หวันบุกไทย

สำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์โดยผู้ประกอบการจีน ฮ่องกง และไต้หวันนั้น นายสุรเชษฐ กล่าวว่าเริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน และคาดว่าในอนาคตกลุ่มจีน ฮ่องกง ไต้หวัน จะเข้ามาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มทุนกลุ่มนี้มักจะเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นผู้บริหารหลักแทนหุ้นส่วนชาวไทย ต่างกับกลุ่มญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาเพียงนำเงินมาลงทุนและรับผลตอบแทน โดยไม่มีบทบาทในการบริหาร ปล่อยให้หุ้นส่วนฝ่ายไทยเป็นผู้บริหารหลัก

Japan 01

กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจอสังหาฯในไทย รายใหญ่ที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้มีประมาณ 4-5 กลุ่ม จากข้อมูลที่พบว่าทุนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เข้ามาร่วมทุนในไทยมีทั้งสิ้น 15 ราย โดยนักลงทุนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ที่ประกาศการลงทุนชัดเจน ประกอบด้วย

  • กลุ่มไรสแลนด์ จากฮ่องกง เข้ามาซื้อตึกร้างย่านถนนรัชดาภิเศษ ทำโครงการ อาร์ติซาน ถนนรัชดาภิเษก และซื้อที่ดินจากบริษัทณุศาศิริ มาเตรียมพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว เลค ซีรีน ที่ถนนพระราม 2
  • บริษัท ทีซี ดีเวลลอปเม้นท์ จากจีน รุกเข้ามาพัฒนาโครงการ ทีซี กรีน บนถนนพระราม 9 และโครงการวัน ไนน์ ไฟว์ อโศก-พระราม 9
  • บริษัท ซีทีซีซี จากจีน หรือ China TianChen Engineering Corporation ทำโครงการในซอยอ่อนนุช ชื่อโครงการอาร์ติมิส พัฒนาและขายหมดแล้ว ยังไม่มีโครงการใหม่
  • เป็นทุนจีนที่รุกเข้ามาลงทุนในอสังหาฯ แต่ไม่ได้เน้นการเป็นผู้พัฒนาเพื่อขาย คือ บริษัท ไท่ฮังไท่ กรุ๊ป จำกัด เข้ามาพัฒนาตึกร้างย่านบางนา ตราด กม.2 อาคารก่อสร้างเก่าของไทยฟา กรุ๊ป พัฒนาเป็นอาคารไทย-ไชน่า ทาวเวอร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
  • กลุ่มทุนไต้หวันคือ บริษัท บลูโอเชี่ยน เรียลเอสเตท จำกัด เข้ามาซื้อโครงการพัฒนาตึกร้างย่านคลองเตย ที่ถนน ณ ระนอง ต่อจากบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม หรือทีเอฟดี ที่เข้าไปซื้อตึกร้างมาพัฒนาเป็นโครงการ เดอะ ฮาเบอร์ วิว เรสซิเดนซ์ โดยทุนไต้หวันรายนี้ซื้อเหมายกอาคารเตรียมนำไปพัฒนาเป็นโรงแรม

กลยุทธ์ร่วมทุนตามกรอบกฎหมาย

ส่วนรูปแบบการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการจากจีน ฮ่องกง และไต้หวัน จะมีรูปแบบต่างกันไปแต่ละราย ส่วนใหญ่ดำเนินการตามกรอบกฎหมาย คือ การจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต้องเปิดบริษัทร่วมทุน

ในส่วนของไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทต่างชาติ 100% เวลาจะพัฒนาโครงการ ก็จะใช้วิธีการตั้งบริษัทใหม่ร่วมทุน แต่ละโครงการ เช่น อาร์ติซาน ที่รัชดาฯ  ร่วมทุนกับบริษัทไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม หรือทีเอฟดี เนื่องจากโครงการนี้เป็นการซื้อตึกร้างต่อจากทีเอฟดีมาพัฒนาต่อ

สิงฮ่องไต 01

ส่วนอีกโครงการที่จะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม คือบ้านเดี่ยว เลค ซีรีน ซื้อที่ดิน 198 ไร่ ถนนพระราม 2 มาจาก บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ก็จะร่วมทุนกับณุศาศิริ เปิดตัวเป็นบ้านเดี่ยว ราคาเริ่มต้น 7 ล้านบาทขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 400 ยูนิต เป็นโครงการแนวราบโครงการแรกในไทย

ตลาดพร็อพเพอร์ตี้ไทย มีผลตอบแทนน้อยกว่าจีนและฮ่องกง แต่ลงทุนต่ำกว่าเพราะราคาถูกกว่า

นอกจากนี้ในเรื่องกฎหมายมั่นคง ภาวะเศรษฐกิจไทยยังดีต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวไปบ้างก็อยู่ในรอบ 2-3 ปีฟื้นตัวใหม่ ที่สำคัญคืออสังหาริมทรัพย์ไทยซื้อแล้วได้กรรมสิทธิ์เป็นฟรีโฮลด์ ต่างจากจีนซึ่งมีเฉพาะสิทธิการเช่า

การทำอสังหาริมทรัพย์ในไทย อาจติดปัญหาความล่าช้าการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้าง รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นอุปสรรคเดียวกันกับผู้ประกอบการไทย จึงไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน การเข้ามาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาฯในไทย ของกลุ่มทุนต่างชาติจึงถือว่าเท่าเทียมกัน

 

 

 

Avatar photo