Economics

‘กทพ.’อ่วม จ่ายชดเชย ‘BEM’ เพิ่ม 1.9 พันล้าน

อนุญาโตตุลาการชี้ขาด “กทพ.” ต้องจ่ายค่าชดเชยทางด่วนศรีรัชให้ “BEM” อีก 1.9 พันล้านบาท

fig 11 04 2019 06 50 39

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.54 น. วันนี้ (30 เม.ย.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้แจ้งเรื่อง “คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับคดีปรับอัตราค่าผ่านทางทางพิเศษ (ทางด่วน) ศรีรัชส่วน D ช่วงถนนรัชดาภิเษก-ศรีนครินทร์ ปี 2546” ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า

ตามที่ BEM ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) BEM ได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 22 เมษายน 2562 โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ BEM สรุปดังนี้

  1. ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,048.23 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหายจำนวน 914.35 ล้านบาท คิดเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป จนกว่าการทางพิเศษฯ จะชำระเสร็จสิ้น
  2. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง ตามอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กับส่วนแบ่งที่ BEM มีสิทธิจะได้รับตามสัญญา โดยคำนวณตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามจริง เป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจนเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บริษัทสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ในขณะที่การทางพิเศษฯ อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด

fig 11 04 2019 06 50 14

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้การทางพิเศษฯ ก็ได้แพ้คดีข้อพิพาทกับ BEM จำนวน 2 เรื่องได้แก่

  1. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM เป็นวงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท
  2. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้การทางพิเศษฯ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ BEM เป็นเงินต้น 7,909.59 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จำนวนรวมทั้งหมด 9,091.79 ล้านบาท เนื่องจากการทางพิเศษฯ ไม่ให้ BEM ปรับขึ้นค่าผ่านทางทางด่วนเฉลิมมหานครและทางด่วนศรีรัชตามผลการศึกษาและสัญญาที่ระบุไว้

Avatar photo