Finance

บจ.ตระกูลดังลุยซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ!

เริ่มต้นไตรมาส 2 ของปี 2562 แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีสัญญาณการชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในช่วงเดือนเมษายน 2562 จะพบว่า บริษัทของตระกูลดังหลายแห่งได้รายงานการเข้าซื้อกิจการบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการเข้าซื้อกิจการส่วนใหญ่จะเป็นการต่อยอดจากธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจที่มีความทันสมัย รองรับการเติบโตในยุคดิจิทัลอย่างชัดเจน

บจ.ใหญ่ลุยซื้อกิจการ 01

ทั้งนี้จากการรวบรวมจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบริษัทจดทะเบียนที่รายงานการซื้อกิจการในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ เพราะบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อกิจการเป็นของกลุ่มตระกูลดัง ประกอบด้วย กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตระกูลเจียรวนนท์ และกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง ซึ่งมีกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยแต่ละบริษัทมีรายการดังนี้

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเป็นของตระกูลเจียรวนนท์ ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นธุรกิจสุกรครบวงจรในแคนาดา ในราคารวมทั้งสิ้น 498 ล้านเหรียญแคนาดา หรือประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อเงินลงทุนใน HyLife Investments Ltd. และการเข้าซื้อเงินลงทุนเพิ่มเติมใน Charoen Pokphand Foods Canada Inc.ประเทศแคนาดา และการเข้าซื้อเงินลงทุนใน AHM Lifestyles – Creative Hospitality Co., Ltd.ประเทศเวียดนาม โดยบริษัทย่อยของ CPF

โดยผู้ซื้อตกลงจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ HIL ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ HyLife จากผู้ขายในราคารวมทั้งสิ้น 498 ล้านเหรียญแคนาดา หรือประมาณ 11,845 ล้านบาท ซึ่ง HyLife ประกอบธุรกิจสุกรครบวงจรตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงงานแปรรูปเนื้อสุกร ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสุกร

ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัท ทรู อินคิวบ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าลงทุนในบริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านซอฟแวร์ ในสัดส่วน 30% ของหุ้นทั้งหมดของ คิว คิว ด้วยมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 81.68 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในตลาด O2O (Offline to Online) อีกทั้งเป็นการสนับสนุนธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพ ตลอดจนเพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต

ขณะเดียวกันบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นสามัญ ของบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ในจำนวน 43.78 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท คิดเป็นมูลค่า 788 ล้านบาท หลังการซื้อหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทถือหุ้นในไทยสมาร์ทคาร์ด รวม 160 ล้านหุ้น คิดเป็น 100% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

ขณะที่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จากัด (มหาชน) หรือ FPT ซึ่งของกลุ่มตระกูล สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย (อินเตอร์เนชั่นแนล) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้เข้าลงทุนใน หุ้นสามัญของ PBA International Pte. Ltd. (“PBAI”) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการระบบปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร (Robotics and Automation Solutions) ในประเทศสิงคโปร์ ในสัดส่วน10% ของหุ้นทั้งหมดของ PBAI โดยซื้อ หุ้นสามัญจาก Y8P Pte. Ltd. (“Y8P”) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ PBA จานวน 5% ของหุ้นทั้งหมด และจองซื้อ หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PBAI อีกจำนวน 5 % ของหุ้นทั้งหมด (รวมเรียกว่า “การเข้าซื้อหุ้นใน PBAI”)

นอกจากนี้ บริษัท ออโตเมชั่น แอสเซ็ท จากัด (“ออโตเมชั่น แอสเซ็ท”) บริษัทย่อยของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้เข้าทำสัญญาร่วมทุนกับ PBA Systems Pte. Ltd. (“PBA Systems”) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PBAI เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในลักษณะบริษัทจำกัดในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการระบบปฏิบัติการอัตโนมัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (“บริษัทร่วมทุน”)

ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน ของออโตเมชั่น แอสเซ็ท และ PBA Systems เท่ากับ51% และ 49 %ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทร่วมทุน ตามลำดับ โดยในเบื้องต้นบริษัทร่วมทุนจะมีทุนจดทะเบียน 1ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 100,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท สำหรับมูลค่าการลงทุนและการพัฒนาโครงการของบริษัทร่วมทุนยังอยู่ในระหว่างการตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า การที่กลุ่ม CPF มีปัจจัยบวกในระยะยาวจากกรณีเข้าซื้อธุรกิจหมูในประเทศแคนาดา โดยคาดว่าการเข้าถือหุ้นของ CPF สัดส่วน 50.1% ใน HyLife Group Holdings Ltd (MHyLifeN) ซึ่งดำเนินธุรกิจหมูในประเทศแคนาดาจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ CPF ในระยะยาวเนื่องจาก HyLife จะเปิดช่องทางให้กับ CPF ไปสู่ฐานการผลิตหมูที่มีต้นทุนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเมินว่าดีลข้างต้นจะส่งผลกระทบสุทธิทางบวกต่อกำไรสุทธิของ CPF คิดเป็น 4-5%

รวมถึงเปิดโอกาสสำหรับการขยายตลาดไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือและตลาดหมูพรีเมี่ยมในประเทศญี่ปุ่นด้วย มูลค่าของผลประโยชน์ร่วมจากการซื้อกิจการในระยะยาวจะมาจากการขยายสินค้าในกลุ่มของ HyLife ไปสู่ผลิตภัณฑ์หมูปรุงสุก และผลิตภัณฑ์หมูที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และโอกาสของการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ ฐานลูกค้าและเครือข่ายการจัดจำหน่ายของ CPF ในประเทศสหรัฐและจีนเพื่อเจาะตลาดและเพิ่มยอดขายของ HyLife ในทั้งสองประเทศ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight