Economics

‘ไพรินทร์’ หย่าศึก ‘แทรมภูเก็ต’ หวังใช้เป็นต้นแบบแก้ปัญหารถไฟฟ้าภูมิภาค

“ไพรินทร์” นั่งหัวโต๊ะหย่าศึก “รฟม.-กรมทางหลวง” สั่งใช้หลักเกณฑ์ใหม่ปรับแบบ “แทรมภูเก็ต” ให้จบใน 10 วัน “ภคพงศ์” เผยถ้าได้ผลจะใช้เป็นโมเดลแก้ปัญหารถไฟฟ้าภูมิภาค

 

รถไฟฟ้า ภูเก็ต 2

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน (Tram) จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมทางหลวง (ทล.) ในวันนี้ (29 เม.ย.) ว่า เบื้องต้นให้ รฟม. กลับไปพิจารณาทบทวนแบบก่อสร้างแทรมภูเก็ต เพื่อลดปัญหาการจราจรบนถนน โดยขอให้ รฟม. และกรมทางหลวงกลับไปหารือร่วมกัน แล้วนำข้อสรุปกลับมาเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้นายไพรินทร์ ได้ช่วยไกล่เกลี่ยความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง รฟม. และกรมทางหลวงเพื่อให้โครงการก่อสร้างแทรม ในจังหวัดภูเก็ตสามารถเดินหน้าต่อไปได้

เบื้องต้นนายไพรินทร์ได้ให้หลักการว่า รฟม. จะต้องออกแบบแทรมให้เกิดผลกระทบต่อพื้นผิวจราจรบนท้องถนนน้อยที่สุด (Minimum design) โดยการออกแบบจะต้องเน้นพื้นที่แนวยาว มากกว่าแนวกว้าง และจะต้องรักษาพื้นผิวถนนให้มีจำนวน 3 ช่องจราจร ทั้งขาไปและขากลับ ยกตัวอย่างเช่น ปรับแบบสถานีแทรมให้ยาวขึ้น แล้ววางชานชาลาทั้ง 2 ฝั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่เยื้องกัน จากปกติที่จะอยู่ตรงข้ามกัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นผิวถนน

สำหรับบริเวณที่มีปัญหาและต้องปรับแบบมีทั้งหมด 4 จุด เช่น ทางเข้าสนามบินภูเก็ต, แยกบางคู, อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นต้น โดยบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร ถ้าหากปรับแบบและจัดจราจรไม่ได้จริงๆ ก็อาจก่อสร้างเป็นอุโมงค์คลองแห้งแทน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ด้านบริเวณทางเข้าสนามบินภูเก็ต ก็จะปรับแบบให้แทรมเดินรถทางเดียว

รถไฟฟ้า ภูเก็ต 4เปลี่ยนทางหลวง 402 เป็นถนนเขตเมือง

ด้านกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนนั้น นายไพรินทร์ก็ได้ให้หลักการว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 ซึ่งเป็นเส้นทางในการก่อสร้างแทรม ปัจจุบันมีปัญหาจราจรติดขัดและมีสัญญาไฟจราจรมากถึง 11 จุด ส่งผลให้รถยนต์ทำความเร็วเฉลี่ยได้เพียง 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากมาตรฐานถนนหลวง (Highway Standard) ที่ให้ใช้ความเร็วได้ถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ดังนั้น กรมทางหลวงก็อาจพิจารณาเปลี่ยนถนนหมายเลข 402 จากประเภทถนนหลวง ให้เป็นถนนในเขตเมืองเมืองแทน ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์ทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแทรมสามารถใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ได้ (Shared lane) โดยใช้สัญญาไฟจราจรร่วมกัน

รถไฟฟ้า ภูเก็ต 6

สั่ง รฟม. ออกแบบใหม่ภายใน 10 วัน

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ นายไพรินทร์จึงได้มอบหมายให้ รฟม. นำหลักการดังกล่าวไปปรับแบบและต้นทุนการก่อสร้างแทรมใหม่ ก่อนนำเรื่องกลับมานำเสนอต่อที่ประชุมฯ ในช่วง 10 วันข้างหน้า โดยระหว่างนี้ รฟม. และกรมทางหลวงคงต้องร่วมหารือร่วมกัน เพื่อให้การปรับแบบเสร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด

ถ้าหาก รฟม. แก้ไขปัญหานี้ได้ ก็จะนำรายละเอียดการออกแบบ ค่าใช้จ่าย และต้นทุนไปปรับปรุงรายงานการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ใหม่ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาต่อไป โดยขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าต้นทุนและความคุ้มค่าของโครงการอยู่ที่เท่าใด เพราะต้องรอรายละเอียดการปรับแบบก่อน ขณะเดียวกันก็จะใช้แนวทางนี้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาคในจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหากับกรมทางหลวงในลักษณะเดียวกันด้วย

“ตัวนี้จะเป็น pilot สำหรับโครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคทั้งหมด ถ้าคุยกันตรงนี้แล้วรับรู้หลักเกณฑ์หลักการที่บอกว่า ถนนที่มีรถไฟฟ้าไม่ใช่ Highway standard  จะต้องเปลี่ยนเป็นถนนในเขตเมือง เพราะฉะนั้นการใช้ความเร็วของรถยนต์จะลดลง ความกว้างของช่องจราจรจากเดิมอยู่ที่ 3.50 เมตร พอเป็นถนนในเขตเมืองก็สามารถลดเหลือ 3-3.25 เมตร เพราะรถมันไม่ได้วิ่งเร็ว ถ้ารับหลักการนี้ก็นำไปใช้กับจังหวัดอื่นๆ ได้”  นายภคพงศ์กล่าว

นายทวี เกศิสำอาง รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในภูมิภาค เพียงแต่เป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุและปัญหาจราจรติดขัดเท่านั้น โดยกรมทางหลวงสามารถหารือเรื่องนี้กับ รฟม. ได้

7F035EBB 84AF 4543 AA13 AE5C8BD59CA3

Avatar photo