Opinions

‘2 โจทย์ใหญ่’ วาระเศรษฐกิจไทยในมือรัฐบาลใหม่

Avatar photo
739

ถึงแม้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ภาคเศรษฐกิจไทยกำลังรอคอยกันว่า จะมีพรรคการเมืองใดเข้าร่วม และมีนโยบายใดบ้างที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ที่มาคู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอัตราที่เร่งเร็วขึ้นกว่าในอดีตมาก

000 1F3266

นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลใหม่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายหลายเรื่อง ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ ผมมองว่า มี 2 เรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลใหม่ควรจัดเป็น “วาระแห่งชาติ” แม้บางเรื่องจะถูกบรรจุอยู่ในนโยบายของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ตาม คือ

“เรื่องปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมามองเห็น แต่ยังไม่ได้เริ่มแก้ไขจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่ การทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เห็นแนวโน้มอันใกล้ว่าจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวย คนจน ก็ยังไต่ระดับขึ้นสูง จนติดอันดับต้นๆ ของโลก ความสามารถในการแข่งขัน และหนี้สินครัวเรือนก็ขยับขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งระดับการคอร์รัปชันที่กัดเซาะบ่อนทำลายเศรษฐกิจ ยังอยู่ในระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน

“เรื่องใหม่” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างความพร้อม รองรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ซึ่งเป็นกระแสโลกที่ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่เทคโนโลยี 5G หรือ 5th Generation ที่จะมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่

การยกระดับทักษะแรงงานไทยให้สูงขึ้น เป็นทักษะชุดใหม่ที่สามารถทำงานกับระบบอัตโนมัติได้ และที่สำคัญ ยกระดับผลิตภาพแรงงานไทยให้สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งนับเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้วที่ผลิตภาพแรงงานคงอยู่ในระดับเดิม และลดลงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมด้วย (ข้อมูลจาก Asian Productivity Organization ปี 2561)

ฉะนั้น ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการกับ 2 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว

ผมเห็นว่า “รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพ” ในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และควรพิจารณาปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการแก้ปัญหา และการเดินไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีของประเทศไทย

วันนี้เศรษฐกิจไทย กำลังถูกผลักเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย รัฐบาลปัจจุบันเองก็รับรู้ถึงสถานการณ์นี้ จึงได้ประกาศนโยบาย “Thailand 4.0” ซึ่งผมเห็นว่า “มาถูกทิศทาง” และอยากให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาสานต่อ โดยมุ่งเน้นไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วกว่าเดิม

thailand 4.0 11 e1489779209835
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน

โอกาสที่จะ “ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย” ของรัฐบาลใหม่ เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว จึงอยู่ที่ว่า ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มีความเข้าใจ มุ่งมั่น ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังหรือไม่

แม้เวลานี้ จะประเมินกันว่า รัฐบาลใหม่จะขาดเสถียรภาพ และอายุจะสั้น ซึ่งโดยปกติอาจส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ก็ตาม แต่ผมกลับมองว่า หากรัฐบาลใหม่สามารถนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ตรงใจประชาชน บวกกับทีมเศรษฐกิจที่มีความสามารถ ประชาชนจะยอมรับและให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ตรงนี้จะมีส่วนสำคัญต่อเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาด้วย

ปี 2562 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทยว่า จะสามารถพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ลำพังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ อย่างที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการรักษาวินัยทางการคลัง จึงไม่ใช่คำตอบที่ดีพออีกต่อไป

ดังนั้น หน้าที่หลักจากนี้ไปของผู้มีอำนาจทางการเมืองและประชาชน ต้องช่วยกันเต็มที่ในการหาช่องทางที่จะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่ให้จงได้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ครับ