COLUMNISTS

ประหยัดไฟ-ประหยัดเงิน-เป๋าตุง

Avatar photo
11951

ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณสูงขึ้นทุกปี ในฤดูร้อนปีนี้ ช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2562 มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ( Peak ) จะสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 4.6% มาอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ จากปี 2561 อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์

ล่าสุดไม่กี่วันมานี้ การใช้ไฟฟ้าก็ทำลายสถิติไปแล้ว โดย Peak ของทั้งระบบเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา เวลา 13.47 น. ที่ 31,677.3 เมกะวัตต์  ก็ต้องช่วยกันลดการใช้พลังงานอย่างจริงจังในช่วงหน้าร้อนนี้ เพื่อให้บิลค่าไฟของเราๆท่านๆไม่กระโดดจนน่าตกใจ

20161112100836 448065800 ปรับใหม่

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  4 ป. มาตรการง่ายๆช่วยประหยัดไฟฟ้า ได้แก่ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน ประกอบด้วย

  • ปิด – ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งการปิดเพียง 1 ดวงต่อวัน ประหยัดไปได้ 30.24 บาทต่อเดือน
  • ปรับ – ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียล โดยอุณหภูมิที่เพิ่ม 1 องศาประหยัดไฟเพิ่ม 10%
  • ปลด – ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ อย่างปลั๊กทีวี ปลดออก 1 ปลั๊กเมื่อไม่ใช่ ประหยัดได้ 0.86 บาทต่อเดือน
  • เปลี่ยน – เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ยกตัวอย่างหลอด LED ประหยัดไฟเทียบหลอดไส้ถึง 85%

ส่วนแอร์ที่กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นสำหรับคนเมืองไปเสียแล้ว ก็ต้องเลือกให้ดีด้วยจะได้ไม่กินไฟเกิน โดยมีวิธีเลือก 3 ข้อ ดังนี้

  1. เลือกแอร์ประหยัดไฟเบอร์ 5
  2. เลือกเครื่องปรับอากาศที่มีค่า SEER (Seasonal Energy Efficiency Ratio ) สูง ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามฤดูกาลของแอร์ โดยแอร์จะปรับการทำงานตามฤดูกาลให้เหมาะสม ช่วยประหยัดไฟถึง 30% และยังทำความเย็นได้เร็วกว่าแอร์ทั่วไป ไม่มีการตัดแอร์ แถมเดินเครื่องก็เงียบ
  3. เลือกเครื่องปรับอากาศที่มีขนาด หรือ บีทียูต่อชั่วโมง ให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง

อีก “เปลี่ยน” ก็คือ เปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00-15.00 น. และ 19.00-21.00 น. เพื่อลดพีค

ที่ผ่านมา รัฐก็มีมาตรการต่างๆมาจูงใจ อย่างอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate : TOU) ที่ใช้กันมาหลายปี ตอนนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมเปลี่ยนมิเตอร์มาใช้อัตรานี้กันเกือบหมดแล้ว เพราะได้ประโยชน์ ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง
เป็นการเปลี่ยนช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้า จากช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ซึ่งค่าไฟฟ้าจะสูง เนื่องจากการไฟฟ้า ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง และสายจำหน่ายให้เพียงพอ ต่อความต้องการไฟฟ้าในช่วงนี้ และต้องใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งถูก และแพงในการผลิตไฟฟ้า มาเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) มีคำแนะนำ ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่ก่อให้เกิดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ในช่วง On Peak (09.00-22.00 น.) เพื่อลดค่าพลังไฟฟ้า (Demand Charge)

2. ในกรณีที่กิจการ มีการทำงาน 2 กะ ก็เลื่อนขบวนการผลิต 1 กะ ให้ไปอยู่ในช่วง Off Peak (22.00-09.00 น.) เพื่อลดค่าความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ในช่วง On Peak ซึ่งค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) ในช่วง Off Peak จะถูกกว่าช่วง On Peak กว่า 55 %

3. ทำงานวันเสาร์วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ อย่างเต็มที่ แทนวันทำงานปกติ เนื่องจากวันดังกล่าว ไม่ต้องเสียค่าพลังไฟฟ้า และค่าพลังงานไฟฟ้า จะถูกกว่าวันปกติในช่วง On Peak กว่า 65 %

4. การนำเอาเทคโนโลยี ในการประหยัดพลังงาน ที่เหมาะสม มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า

factory 3323978 640

นอกจากนี้ยังมีอีกมาตรการที่รัฐนำร่องใช้กับสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าสูง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรียกว่า “Demand Response” กำหนดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ ชื่อ “อัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Rate)”

ปัจจุบันมาตรการนี้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ประกาศให้เข้าโครงการเฉพาะช่วงหน้าของร้อนของแต่ละปี เพื่อลด Peak เมื่อปี 2561 เปิดรับเดือนสิงหาคม 2561 เป็นโครงการ Demand Response รูปแบบ “Critical Peak  Pricing (CPP) “ มีลักษณะเป็นอัตราค่าไฟฟ้าทางเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จูงใจให้หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน (Critical Peak) ส่วนปี 2562 กกพ.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ หาก Peak เพิ่ม แต่สำรองไฟฟ้าของประเทศยังสูงครอบคลุม ก็ไม่ต้องนำมาตรการนี้มาใช้

สำหรับบ้านอยู่อาศัยหากมั่นใจว่าปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ และใช้ TOU แล้วคุ้ม ก็สามารถแจ้งการไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อขอเปลี่ยนมิเตอร์ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย แนะนำทางที่ดีทีสุด คือ “ประหยัด”  โดยจำให้ขึ้นใจว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหนกินไฟกินเงินเรามากน้อยแค่ไหน เปิดแต่ละครั้งเงินไหลออกจากกระเป๋ากี่สตางค์ จะได้ประหยัดถูกทาง

20180223050139 2072744005 1

มาดูเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูดเงินเราติดอันดับ 5 ได้แก่ (ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน )

1.เครื่องทำน้ำอุ่น กินไฟ 2,500 – 12,000 วัตต์ ชม.ละ 8.9-43 บาท
2. แอร์ กินไฟ 1,200 – 3,300 วัตต์ ชม.ละ 4.3-11.8 บาท
3. เครื่องซักผ้าแบบมีเครื่องอบ กินไฟ 3,000 วัตต์ ชม.ละ 10.7 บาท
4. เตารีด กินไฟ 700 -2,000 วัตต์ ชม.ละ 2.5-7.2 บาท
5. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กินไฟ 450 -1,500 วัตต์ ชม.ละ 1.6 -5.3 บาท

รู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และช่วงเวลาการใช้ให้ถูก หลีกเลี่ยงใช้ไฟฟ้าช่วง On Peak เช่น เปิดแอร์หลังเวลา 22.00 น. ซักผ้ารีดผ้าคราวเดียวในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น ประหยัดได้รับรอง ไม่ไปไหนเสีย “บิลค่าไฟ” มาถึง อย่างน้อยค่าไฟก็ไม่เพิ่ม ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่ม กระเป๋าก็ตุงแน่นอน