Wellness

ปลุกกระแส ‘ Living Will ‘ หนังสือแสดงเจตนาขอ ‘ตายดี’

เสียงสะอื้นดังระงมห้องผู้ป่วยหนักไม่เคยขาด หลายครอบครัวมีเวลาร่ำลากัน ขณะที่อีกหลายคนจากไปอย่างเดียวดายในที่แปลกตา แพทย์พยาบาลไม่น้อยไม่อาจคุ้นชินกับภาพนี้ และตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้ง ว่า “หากเป็นเราจะเลือกตายแบบไหน จากไปพร้อมกับสายระโยงระยาง หรือจะใช้ลมหายใจสุดท้ายอย่างมีความหมาย และมองคนที่รักจนลาลับอย่างสงบ ”

คำตอบนี้มีอยู่ในใจทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้ผู้เจ็บไข้ระยะสุดท้าย ได้มีโอกาสเลือกเส้นทางสงบ เพื่ออำลาภพภูมินี้  การมอบ “สิทธิ” ให้เขา จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 บรรจุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ให้ทุกคนทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ( Living Will ) โดยไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่ทำไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต

พร้อมกันนี้กฎหมายยังบัญญัติรับรองว่า การทำตามเจตนานี้ ของผู้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายตายตามธรรมชาติ แทนที่จะมุ่งรักษาเพียงยื้อการตาย “ไม่เป็นการกระทำผิด”

7D4A8122 e1556373735962 1
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

สิบกว่าปีผ่านมา “สิทธิ ” ที่กฎหมายมอบให้นี้ ผู้ป่วยจำนวนมากยังคงถูกปฏิเสธ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ค้นหาสาเหตุว่า มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ด้านหนึ่ง คือ ญาติของผู้ป่วยเอง ที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจแทนผู้ป่วยระยะสุดท้าย มักจะเลือกยื้อการรักษา โดยให้แพทย์รักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ทั้งเจาะคอ ใส่สายยาง หรือมีเครื่องช่วยหายใจ แม้ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ได้เพราะเครื่องนั้นก็ตาม

“ลูกหลายคนมาจากแดนไกล อยู่คนละที่กับพ่อแม่ แต่มีบทบาทตัดสินใจ ในช่วงเวลาที่พ่อแม่ป่วยระยะสุดท้าย และม้กจะเลือกให้รักษาอย่างเต็มที่ พยายามให้ยื้อไว้ เราเรียกกันว่า กตัญญูเฉียบพลัน หรือ กตัญญูหมื่นลี้ “

นอกจากลูกหลานหรือญาติจะตัดสินใจแทนผู้ป่วย โดยเลือกที่จะยื้อความตายเอาไว้ ทำให้ความต้องการจากไปอย่างสงบอย่างธรรมชาติ ไม่อาจทำได้ และอีกอุปสรรคยังมาจากหมอพยาบาลจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีคอนเซปต์ในใจเรื่อง “ตายอย่างสงบ” เพราะถูกบ่มเพาะให้ “รักษา” จนถึงที่สุด

ศ.แสวง อธิบายถึง “สิทธิการตาย” ว่า ทั่วโลกมีกฎหมายรับรองไว้ 2 แบบหลัก ได้แก่ 1.แบบเร่งรัด หรือขอตายก่อนเวลา เช่น กรณีผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดต่อไปได้ จึงร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต กรณีนี้มีไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่มีกฎหมายรับรองให้สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง ส่วนไทยการทำให้ตายเร็วขึ้น ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ก็ตาม ทางกฎหมายถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าทั้งสิ้น เข้าข่ายความผิดต่อชีวิต คือ การพยายามฆ่าทุกกรณี

7D4A8511

และ 2. แบบธรรมชาติ แบบประเทศไทย ซึ่งบรรญัติไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 รับรองอย่างชัดเจน ให้สิทธิทุกคนสามารถ ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้

กรณีนี้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบ โดยปราศจากการเหนี่ยวรั้ง ด้วยเครื่องมือต่างๆ เพราะการป่วยระยะสุดท้าย การใช้เครื่องมือ หรือให้สารใดก็ไม่มีประโยชน์แล้ว  และกฎหมายยังรับรองว่าหมอที่ทำตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยไม่มีความผิดใดๆ

hospice 1794351 640

โดยผู้ป่วยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนา ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน มีพยานลงนามกำกับ และส่งสำเนาเก็บในเวชระเบียน หรือมอบให้แพทย์ผู้รักษาไว้ และเมื่อเลือกแล้ว ที่จะใช้สิทธิการตายตามธรรมชาติ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ จำเป็นต้องวางแผนร่วมกันที่จะดูแลแบบประคับประคอง ( Palliative Care ) เพื่อให้วาระสุดท้ายของผู้ป่วยซึ่งมักจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 2 สัปดาห์ มีความสะดวกสบาย และพ้นจากความทรมานมากที่สุด

ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลได้จัดสถานที่ และสร้างระบบการดูแลประคับประคองโดยประสานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล  เช่น ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ซึ่งเชื่อมต่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บริเวณซอยคลองหลวง 25 ถนนพหลโยธิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่จะเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ ขนาด 20 เตียง 40 ห้อง

เป็นสถานที่ดูแลแบบประคับประคองแห่งแรกที่เปิดขึ้นในประเทศไทย ที่ให้ผู้ป่วยและญาติอยู่ด้วยกันภายใต้การประเมินของแพทย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานที่นี้ คือคำตอบสุดท้ายเท่านั้น ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมาก เลือกที่จะกลับไปตายที่บ้านซึ่งเคยอยู่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ขอเพียงเป็นความประสงค์ของผู้ป่วย ผ่านการตกลงของญาติ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอำเภอ เพื่อให้จัดยาจำเป็น เช่น มอร์ฟีน บรรเทาอาการปวด

การดูแลประคับประคองที่ศ.แสวง กล่าวถึงนั้น ไม่ได้หมายถึง การทิ้ง หรือ ปล่อยผู้ป่วยนอนบนเตียงตามยถากรรม แต่เป็นหลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย และมีโอาสเสียชีวิตอย่างสงบ หรือ ตายดี ( Good death ) สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นการดูแลใน 4 มิติ ประกอบด้วย

1.ดูแลด้านร่างกาย ให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย และบรรเทาอาการจากความทุกข์ทรมานต่างๆ

2.ดูแลด้านจิตใจ ลดความวิตกกังวล และความเครียด

3.ดูแลด้านจิตวิญญาณ ศาสนา ความต้องการสุดท้ายของผู้ป่วย

4. ดูแลด้านสังคม และเศรษฐกิจของผุ้ป่วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ผู้ป่วย และครอบครัวได้เตรียมความพร้อม ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบสุขท่ามกลางญาติพี่น้อง

7D4A8298
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปง่ายๆ ว่า ตายดี ก็คือ การทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ก่อนตายได้ทำตามความปรารถนา ไม่มีเรื่องติดค้างคาใจ ซึ่งอาจหมายถึง การได้ทำกิจกรรมต่างๆในวาระสุดท้าย เช่น ไปท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามเข้าใจได้ว่า คนคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นอาจจะยากสำหรับบางครอบครัวที่จะบอกปฏิเสธการรักษา ขณะเดียวกันก็ยากสำหรับแพทย์ที่ถูกสอนให้ “ให้รักษา” จนถึงที่สุด คำแนะนำของ ศ.นพ.อิศรางค์ ก็คือ ก่อนที่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะตัดสินใจใดๆ ไม่ได้ ควรมีการหารือนอกรอบ อาจเป็นที่บ้านระหว่างผู้ป่วย ญาติ และมีแพทย์เป็นคนกลาง เพื่อตกลงว่า เมื่อถึงระยะสุดท้ายแล้ว จะให้การรักษาเป็นอย่างไร แต่ยืนยันได้จากประสบการณ์พูดคุยกับผู้ป่วยไม่น้อย พบว่า 93% ของผู้ป่วยกลัวทรมานมากกว่ากลัวตาย

7D4A8369
ดีเจพี่อ้อย

ดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล นักรายการชื่อดังที่ได้ทำ Living Will ไว้แล้ว เล่าว่า ได้ทำหนังสือเจตนาไว้เพราะเข้าใจในสัจธรรมของโลกใบนี้ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ” ประกอบกับเป็นคนเดินทางเยอะ จึงรู้ว่าอะไรๆ เกิดขึ้นได้เสมอ จึงได้ทำหนังสือระบุเจตนาที่จะรักษาเท่าที่จำเป็นเมื่อถึงเวลาสุดท้าย และขอบริจาคอวัยวะของร่างกาย โดยให้คนในครอบครัวรับทราบทุกอย่าง เป็นการวางแผนชีวิตให้ตัวเอง ขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะทุกประการ ที่ทำอย่างนี้เพราะเชื่อว่า “การตายดี” คือการเลือกเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิต อย่าง “สงบ และมีศักดิ์ศรี ่ ไม่ยื้อ และไม่รั้งชีวิต

หลักการสำคัญที่ดีเจพี่อ้อย ฝากถึงทุกคน คือ กลับมาสำรวจตัวเองว่า เมื่อถึงเวลาที่คนใดคนหนึ่งในครอบครัว หรือตัวเอง ป่วยระยะสุดท้าย แล้วเลือกที่จะรักษาแบบไหน การยื้อชีวิต เพื่อตัวเอง หรือผู้ป่วย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตที่มีความหมายของทุกคน ก็คือ การทำให้ทุกลมหายใจมีความสุขที่สุด

Avatar photo