COLUMNISTS

เร่งสปีดอารมณ์จากช็อคไปสู่การยอมรับ เพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
180

คงไม่แปลกอะไรถ้าคนจะช็อค เพราะต้องเจอเรื่องเลวร้ายที่ไม่คาดคิด ยิ่งเรื่องนั้นส่งผลกระทบจนทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งช็อคหนักมาก

ที่พูดแบบนี้เพราะตามทฤษฎีของนักจิตวิทยาชาวสวิส Dr. Elisabeth Kübler-Ross อธิบายไว้ว่า เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต อารมณ์ของมนุษย์จะมีการเคลื่อนที่ จากอาการช็อคแทบหมดสติ รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไปสู่ความกลัว ความโกรธ จากนั้นจะคิดต่อรองกับกาลเวลา อยากขี่ไทม์แมชีนกลับไปแก้ไขอดีต

แต่เมื่อพบว่าความจริงก็คือความจริง ความเศร้าก็จะเข้ามาแทนที่ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ร้าย

สุดท้ายเวลา จะทำให้เข้าสู่โหมดทำใจ และยอมรับความจริงไปเอง

Stress

ถ้าเราเป็นหัวหน้า พบว่าลูกน้องกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในองค์กร และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับวิธีการทำงานแบบเดิมที่ทำกันมานาน ซึ่งเขาเหล่านั้นก็ไม่แฮปปี้ที่จะต้องทำชีวิตให้ยุ่งยาก จึงไม่อยากเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่

หัวหน้าคิดไว้ได้เลยครับว่า เมื่อประกาศออกไป รับรองต้องมีลูกน้องช็อค และเดี๋ยวจะมีคำถามผสมอารมณ์ขุ่นๆ ว่า “เปลี่ยนทำไม ไม่เวิร์คหรอกแบบเดิมดีอยู่แล้ว”

บรรยากาศจะเซ็ง ดูหดหู่ ขาดความกระตือรือร้น ถ้าหนักเข้าอาจก่อหวอด ต่อต้าน แต่ถ้าองค์กรเอาจริง ใครรับไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ ก็จะเริ่มปรับตัว ลองดู เผื่อทำได้ และสุดท้ายจะยอมรับ

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่รู้แล้วว่าลูกน้องต้องช็อค และสุดท้ายก็ต้องยอมรับไปเอง แต่ประเด็นอยู่ที่ กว่าจะยอมรับ มันจะช้าหรือเร็วต่างหาก

ถ้าใช้เวลานาน องค์กรก็จะสูญเสียโอกาสในช่วงเวลานั้น สิ่งที่ควรทำคือ หัวหน้าต้องช่วยเร่งสปีดอารมณ์ของลูกน้องจากโหมดช็อคไปสู่โหมดยอมรับให้เร็วที่สุด

เมื่อลูกน้องช็อค ไม่ยอมรับความจริง ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง หัวหน้าต้องสื่อสาร อธิบายถึงสาเหตุ ผลกระทบ และประโยชน์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต้องตอบคำถามเพื่อช่วยให้ลูกน้องก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

ถ้าอารมณ์เคลื่อนที่มาอยู่ในโหมดหวาดกลัว โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง และต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หัวหน้าต้องฟังมากกว่าพูด ให้เขาระบายความรู้สึกออกมา แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจ และเห็นใจในความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นในใจของเขา

หากอารมณ์เข้าสู่โหมดปรับตัว ลูกน้องเริ่มค้นหาแนวทางเพื่ออยู่กับความจริง หัวหน้าต้องสนับสนุน เปิดโอกาสให้ลูกน้องมีส่วนร่วมมากขึ้น และช่วยเสนอแนะแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อเติมเต็มความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต

ช่วงสุดท้ายของอารมณ์จะเข้าสู่โหมดยอมรับ ถือว่าลูกน้องกำลังก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงและพร้อมจะสลัดพฤติกรรมหรือวิธีการเก่า ๆ ทิ้ง หัวหน้าต้องชื่นชม เสริมแรงและตอกย้ำให้ทำสิ่งใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง

ถ้าหัวหน้าสามารถช่วยให้ลูกน้องผ่านอารมณ์ไนแต่ละช่วงไปได้เร็วเท่าไร ลูกน้องก็จะหลุดพ้นจากอดีตได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงในองค์กร เดินหน้าไปด้วยพลังของทุกคน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง