POLITICS-GENERAL

อธิบดีทรัพยากรน้ำ ติดตามผลแก้ภัยแล้ง บรรเทาทุกข์กว่า 3 แสนคน

พื้นที่ตำบลยางหัก ถือเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปากท่อ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาที่มีความลาดชันสูง โดยในช่วงฤดูฝนจะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำฝน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน ไปใช้ในช่วงฤดูแล้ง จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญให้ประชาชนได้ใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในวงกว้าง

8745

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ของอ่างเก็บน้ำไทยประจัน หมู่ที่ 5 (ชป)  ติดตามการเติมน้ำแจกจ่ายน้ำโดยรถบรรทุกน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านไทยประจัน  การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก จำนวน 7 โครงการ และติดตามการดำเนินงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นลำห้วยแม่ประจัน แห่งที่ 1 บ้านท่ายาง หมู่ที่ 3 ที่สามารถสนับสนุนน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ตลอดฤดูแล้ง

โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นลำห้วยแม่ประจัน บ้านท่ายาง หมู่ที่ 3  เป็นการขุดลอกลำห้วย พร้อมก่อสร้างฝายน้ำล้น ทำให้มีพื้นที่ความจุกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 3,700 ลูกบาศก์เมตร ประชาชน 84 ครัวเรือนมีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์

8749

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ ลำห้วยพุกรูด บ้านยางคู่ หมู่ที่ 6 เป็นการขุดลอกลำห้วยให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นถึง 1,700 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำทำให้ประชาชน 20 ครัวเรือน มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 55 ไร่  โดยในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ แล้วเสร็จ 5 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 แห่ง

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่ผ่านมามีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 10% ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ ประกอบด้วยเขื่อนกระเสียว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนทับเสลา  ทำให้มีระดับน้ำที่กักเก็บไว้ต่ำกว่า 30 %

8742

พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่ ก็ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ หลายหน่วยงานระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำ ได้เตรียมการรับมือภัยแล้งตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการสูบน้ำเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนจำนวน 27.414 ล้านลูกบาศก์เมตร แจกจ่ายน้ำ 4,253,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด 417,550 ลิตร น้ำดื่มบรรจุขวด 19,696 ขวด

ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ด้านการอุปโภคบริโภค 333,604 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกรรม 84,950 ไร่ นอกจากนี้ปัจจุบันมีเครื่องมือพร้อมช่วยผู้ประสบภัยที่ประกอบด้วย รถบรรทุกจำนวน 63 คัน เครื่องสูบน้ำจำนวน 311 เครื่อง และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุวิกฤติน้ำในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 จำนวนกว่า 171 คน

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 – 11 หรือ โทร 1310 กด 5

8744

Avatar photo