Economics

ตั้งบริษัท TDED ลุยธุรกิจพลังงานทดแทน 5 ปีกวาดรายได้ 1,000 ล้านบาท

กฟภ.จับมือบีซีพีจีร่วมทุน ตั้งบริษัท TDED เดินหน้าธุรกิจพลังงานทดแทนทั่วประเทศ พร้อมให้บริการวางระบบบริหารจัดการพลังงาน ซื่อขายไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน นำร่องโครงการโซลาร์รูฟท็อปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 300 ล้านบาท ตั้งเป้า 5 ปีกวาดรายได้ 1,000 ล้านบาท พร้อมจดทะเบียนในตลาดฯ มั่นใจธุรกิจเติบโตสูงจากเทรนด์ผู้บริโภคต้องการเป็นผํู้ผลิตไฟฟ้าเอง บีซีพีจี เตรียมจับมือทำธุรกิจต่อยอดกับกฟน.-กฟผ.ด้วย

IMG 20190425 152018

วันนี้ ( 25 เม.ย.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ฤกษ์ตั้งบริษัทร่วมทุน Thai Digital Energy Development (TDED) ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เดินหน้าธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มตัว

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ( PEA ENCOM )ในเครือ กฟภ. กล่าวว่า บริษัท TDED เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท บีซีพีจี สัดส่วน 75% และ พีอีเอ เอ็นคอม ฯ 25% เพื่อเดินหน้า 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะใช้กลไกของแอบพลิเคชั่น Solar Hero ที่กฟภ.ได้พัฒนาขึ้นมารองรับ เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจติดตั้งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ( Solar Rooftop) ทั้งการให้ข้อมูลด้านเทคนิค และแหล่งเงินทุน และเป็นช่องทางให้บริการของ กฟภ.
  2. ส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (ESCO) ในหน่วยงานรัฐ รีฐวิสาหกิจ และเอกชน
  3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy แบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
IMG 20190425 155352
เขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายทำรายได้จากการดำเนินงานผ่าน บริษัท TDED ใน 5 ปี 1,000 ล้านบาท จากการผลิตไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ โครงการหลักที่จะลงทุนในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ( Solar Rooftop) ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 12 เมกะวัตต์ และโครงการที่จะร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทั้ง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่เหลืออยู่ระหว่างการเจรจา

โดยจะเน้นที่การลงทุนในพื้นที่ที่กำลังพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ( Smart City ) เช่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี ) เป็นต้น และคาดว่าภายใน 3-5 ปีมีความเป็นไปได้ที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การที่กฟภ.เข้ามาดำเนินธุรกิจเรื่องนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากแบบรวมศูนย์ ( Centralized ) เป็นบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ ( Decentralized ) และความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และขายไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการบริหารจัดการ และการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ( Blockchain ) มาใช้ในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า

IMG 20190425 154313
บัณฑิต สะเพียรชัย

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี กล่าวเสริมว่า อนาคตของการผลิตไฟฟ้า จะเป็นแบบกระจายศูนย์ และซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองมากขึ้น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ของมหาวิทย่าลัยเชียงใหม่จะเป็นโครงการแรก ที่จะมีการติดตั้งให้เป็นต้นแบบ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา และบริหารจัดการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในกลุ่มอาคารในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งมีทั้งอาคารเรียน อาคารที่พัก โรงพยาบาล เป็นต้น โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท

ในระยะต่อไปหากผลิตไฟใช้เองในมหาวิทยาลัยแล้วเหลือ ก็สามารถข้ามไปขายไฟฟ้าให้กับสถานที่อื่นใกล้เคียง เช่น สวนสัตว์ หรืออาคารต่างๆบนถนนนิมมานเหมินทร์ เป็นต้น และหากโครงการนี้เดินหน้าได้สมบูรณ์แล้ว จะทำให้จุดอื่นๆมั่นใจ และขยายโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพราะมั่นใจขณะนี้เจ้าของอาคารต่าง มีความต้องการที่จะผลิตไฟฟ้าบนหลังคามากขึ้น

ประกอบกับกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจน นอกจากผลิตใช้เองแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการขายออกด้วย ขณะเดียวกันยังได้เปรียบ เพราะมียักษ์ใหญ่ อย่างบริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จำกัด จากออสเตรเลีย มาเป็นพันธมิตรในธุรกิจ Digital Energy เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมต่างๆใช้ในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดของเสียในระบบ ส่งเสริม Circular Economy สนับสนุนการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน

เบื้องต้นได้วางแนวทางที่จะดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท TDED ในส่วนของกลุ่มลูกค้ารายย่อย แต่หากเป็นกิจการขนาดใหญ่ จะเป็นการลงทุนของบีซีพีจีเอง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อดำเนินธุรกิจกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เพื่อรองรบเทรนด์ของกิจการไฟฟ้าในอนาคต

Avatar photo