Politics

สายใต้ส่ง ‘จุรินทร์’ ชิงหัวหน้าพรรคปชป. 15 พ.ค. รู้ผล

บรรยากาศ “ประชาธิปัตย์” กลับมาระอุอีกครั้ง แม้อาจไม่ได้แผดรังสีความร้อนออกมาให้เห็นเด่นชัด แต่ก็พอจับอาการได้จากประเด็นการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายหลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค  เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส. ได้ตามเป้า

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนี้จึงอยู่ในภาวะสุญญากาศ จำเป็นต้องคัดเลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่คุมบังเหียน ประคับประคองพรรคให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ส่อให้เห็นถึงความแตกร้าวภายใน โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า จะร่วมหรือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ”

ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้ปรากฏ 3 รายชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย กรณ์ จาติกวณิช อภิรักษ์ โกษะโยธิน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคอยู่ 

นายกรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

ประเด็นการเลือกหัวหน้าพรรครวมถึงกรรมการบริหารชุดใหม่ ถือเป็นความคาดหวังสำคัญของพรรคครั้งนี้ เพราะไม่ว่าใครได้เข้ามาจะต้องรับรับภารกิจสำคัญ คือ ขับเคลื่อนประชาธิปัตย์ออกจากหล่มที่ติดอยู่

แม้รายชื่อที่เล็ดรอดออกมาไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาภายในพรรค แถมยังเคยนั่งเก้าอี้สำคัญทางการเมืองมาแล้วในยุคอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อต้องแข่งขันผนวกกับรอยร้าวทางความคิด ที่เริ่มมีทิศทางไม่สอดคล้องกัน  ในการประชุมใหญ่วิสามัญที่ผ่านมา จึงได้มีผู้ใหญ่ภายในพรรคยื่นข้อเสนอให้บุคคลที่ปรากฏรายชื่อเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มาพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพราะไม่ว่าใครจะได้รับเลือกควรให้ทีมของอีกฝ่ายเข้าช่วยงานเพื่อร่วมกันพัฒนาพรรคต่อไป

ข้อเสนอนี้ถือเป็นการป้องกันให้เกิดความขัดแย้งกันภายในพรรค จากปัญหาผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างส่งผลกระทบต่อพรรคในทางการเมืองอยู่พอควร เนื่องจากได้จำนวน ส.ส. ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้

ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยืนยันว่าได้มีการเสนอประเด็นนี้จริง เพราะไม่ต้องการให้เสียของ โดยเฉพาะทีมงานแต่ละฝ่ายก็มีคนเก่งในแต่ละด้านแตกต่างกัน ดังนั้น ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกควรให้ทีมงานอีกฝ่ายเข้าร่วม ส่วนใครจะมีโอกาสได้รับเลือกนั้น ยอมรับว่าขณะนี้ประเมินยาก เนื่องจากทุกฝ่ายต้องเดินสายหาเสียง ดังนั้น ต้องมาดูว่า 19 กลุ่ม กว่า 300 คน อาทิ กรรมการบริหาร ส.ส.ปัจุบัน อดีตส.ส. อดีตรัฐมนตรี ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศคิดอ่านอย่างไร

อภิรักษ์ โกษะโยธิน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ทว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเห็นว่าใครมีความเหมาะหรือมีผู้สนับสนุนมากกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน ซึ่งเรื่องนี้คาดว่าน่าจะรู้ผลก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม ที่มีการประชุมใหญ่พรรค แต่ถ้าหากผู้สมัครคนใดคิดว่าตัวเองมีความเหมาะสมในการรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ก็สามารถแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมวันดังกล่าวได้ โดยจะให้เวลาคนละ 15 นาที เพื่อให้สมาชิกพรรครับฟังอีกครั้งก่อนตัดสินใจลงคะแนน

ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีการกำหนดอะไรเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยังคงยึดตามข้อบังคับพรรคในข้อ 32 (1) วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพียงแต่ได้งดเว้นในเรื่องของการทำไพรมารี่โหวต ด้วยเงื่อนไขของเวลาและงบประมาณซึ่งมีอยู่จำกัด

ทั้งหมดจึงต้องมาดูว่าท้ายที่สุดแล้วผู้หลักผู้ใหญ่รวมถึงสมาชิกพรรคจะมีความเห็นชอบเลือกใครให้มาเป็นผู้นำประชาธิปัตย์คนใหม่ เพื่อดึงพรรคให้หลุดออกจากหลุมดำ กับภาวะขาลง ให้กลับมาฟื้นคืนชีพใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

ประการสำคัญ คือ เรื่องของการร่วม หรือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่หลายฝ่ายจับจ้องอยู่ว่าประชาธิปัตย์จะทำอย่างที่พูดไว้ก่อนหน้าหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปตามผู้นำ จึงเป็นช่วงเวลาวัดใจประชาธิปัตย์พอควร

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight