Politics

จำคุก 61 ปี 12 เดือน ‘อธิการบดี ม.สันติภาพโลก’ คดีตั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้รับอนุญาต

ที่ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาคดีก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก World Peace University  (WPU) โดยมิชอบ จากกรณีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง

นายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง WPU ที่เชียงใหม่  (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.) จำเลยที่ 1

นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาขา 2 (WPU 2)  และนายทะเบียนมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร.) จำเลยที่ 2

นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัย WPU  (ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.)จำเลยที่ 3

นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ใน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนายสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการเงิน จำเลยที่ 4

นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.) จำเลยที่ 5

นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัยคนที่ 2  (ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 6

นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธก.WPU สาขานนทบุรี (ตำแหน่งทางวิชาการ ดร.)  จำเลยที่ 7

นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธก.WPU สาขาภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่างและประธานฝ่ายนิติกร WPU จำเลยที่ 8

นางวัชราพร ป้องคำสิงห์ เป็นผู้ช่วยนายนิยม และดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จังหวัดขอนแก่น จำเลยที่ 9

WPU head

ในความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ตามความผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2526 , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยทั้ง 9 คน ได้รับประกันตัว ซึ่งวันนี้ก็เดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษาทั้งหมด

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้รวบรวมหลักฐานส่งถึง สกอ. ให้ตรวจสอบการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย พนักงานสอบสวน DSI นิติกรชำนาญการ สกอ.  ผู้ที่ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย จำนวนหนึ่ง รวมทั้งพยานเอกสาร  เป็นกำหนดการแจกใบปริญญาและเอกสารทางการเงิน  มีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคงว่าการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก หรือ WPU นั้น  กระทำโดยมิชอบไม่มีใบอนุญาต และได้มีการนำข้อความที่บิดเบือน อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้มีบุคคลนับ 100 คน มีทั้งคนดังและนักแสดงเข้าร่วมในการรับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัย ทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการเรียนแบบอิสระตามแนวคิดที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้งเคยอ้างไว้  การเข้ารับปริญญาทางมหาวิทยาลัยก็ให้ผู้รับชำระเงินอ้างเป็นค่าใช้จ่ายราว 5,000 – 12,000 บาท  มหาวิทยาจะทำเป็นกระเบื้องเซรามิกประทับตรา (โลโก้) มหาวิทยาลัยและชื่อ อธก.จำเลยที่ 1 ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น อธก.ผู้ก่อตั้งและ จำเลยที่ 4  เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ดูแลเรื่องการเงิน กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 60 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี  ยังมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยจำเลยที่ 1 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ มาตรา 10, 104, 121 ด้วย รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 61 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 จำคุก 61 ปี

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนมหาวิทยาลัย และจำเลยที่ 3 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน  ได้กระทำผิด 27 กระทง รวมถึงทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก ทั้งสิ้น 28 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 5 เป็นนายทะเบียน จำเลยที่ 6 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย(คนที่ 2) กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 33 กระทง และ ความผิดตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน

จำเลยที่ 7 เป็น อธก.WPU สาขานนทบุรี กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 10 กระทง จำคุก รวม 10 ปี

 จำเลยที่ 8 เป็นอธก.WPU สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

จำเลยที่ 9 เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 8 และดูแลด้านการเงิน ที่จังหวัดขอนแก่น กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 17 กระทง รวมจำคุก 17 ปี

เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิด ของจำเลยทั้งหมดแล้ว จึงให้จำคุกจำเลย ทั้ง 9 คนละ 10 ปี  ให้ร่วมกันชดใช้ ค่าเสียหายกับผู้ได้รับใบปริญญา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนของแต่ละคนด้วย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight