Technology

‘แกร็บ’ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่! ช่วยคนกรุงวางแผนเดินทาง หวังยาวถึงเชื่อม ‘ไฮสปีด’

“แกร็บ” เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ “ทริป แพลนเนอร์” ช่วยคนกรุงวางแผนการเดินทางผ่านขนส่งสาธารณะ หวังยาวถึงเชื่อมไฮสปีด-สนามบินอู่ตะเภาในอีอีซี

Grab Trip Planner 3

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอพพลิเคชั่นแกร็บได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ชื่อ “ทริป แพลนเนอร์” (Trip Planner) ซึ่งเป็นบริการช่วยวางแผนและเชื่อมโยงการเดินทางผ่านโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมมีทางเลือกเสริมจากแกร็บ ทั้งแกร็บไบค์ (วิน) และแกร็บคาร์ เพื่อตอบโจทย์การเดินทางจากตั้งต้นทางถึงปลายทาง

แอพพลิเคชั่นแกร็บเริ่มเปิดให้บริการฟีเจอร์นี้ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งก็มีเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และในวันนี้ (23 เม.ย.) ก็ได้เปิดให้บริการเพิ่มใน 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

สำหรับประเทศไทยจะนำร่องในกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดแรก โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีรถยนต์ส่วนตัว และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนกว่า 9.8 ล้านคัน มากกว่าปริมาณที่ถนนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สามารถรองรับได้ถึง 8 เท่า ส่งผลให้เกิดปัญหารถติด และแนวทางเดียวในการแก้ไขปัญหาคือ การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ

ฟีเจอร์ทริป แพลนเนอร์ ของแกร็บ จึงจะเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน ด้วยการให้ข้อมูลทั้งด้านตารางเวลา อัตราค่าโดยสาร และข่าวสารเร่งด่วน ทั้งระบบยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางผ่านระบบสาธารณะโหมดต่างๆ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า เรือ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) และแกร็บเข้าด้วยกัน แล้วประมวลทางเลือกในการเดินทางที่รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ข้อมูลในฟีเจอร์จะต่อยอดมาจากบริการของแกร็บในประเทศไทย ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 2 แสนเที่ยวต่อวัน

นายธรินทร์ กล่าวต่อว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้จะช่วยให้แกร็บส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนโหมดหลัก (Feeder) เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของภาครัฐได้มากขึ้น และเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสนับสนุนระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

นอกจากนี้ ถ้าชาวไทยคุ้นเคยกับการใช้มูลในการเดินทาง และการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งสาธารณะโหมดต่างๆ ก็จะส่งผลดีต่อโครงการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า

“ภาครัฐทำหน้าที่ในการสร้าง Mega Infrastructure ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า สนามบิน เราเองเป็น Feeder ช่วยเหลือภาครัฐในการส่งคนเข้าไปใช้บริการ Infrastructure คงจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐมาก เพราะจะทำให้ทุกโครงการที่ภาครัฐลงทุน ไม่ว่าจะเป็นอู่ตะเภา หรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยๆ มีภาคเอกชนสามารถ Feed Traffic ไปที่สนามบินหรือไป Mega Project ได้” นายธรินทร์กล่าว

Grab Trip Planner 14

ทั้งนี้ ฟีเจอร์ทริป แพลนเนอร์ จะใช้ระยะเวลาทดลองในกรุงเทพฯ ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจะขยายบริการไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่อ แต่ต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก่อน เพราะฟีเจอร์นี้เป็นบริการที่แกร็บดำเนินการร่วมภาครัฐ

นายธรินทร์ยังกล่าวถึงระบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ในประเทศไทยว่า แกร็บคาดหวังค่อนข้างมากว่า รัฐบาลใหม่จะช่วยปลดล็อก Ride Sharing ให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ได้แสดงความคิดเห็นที่ดีต่อบริการ Ride Sharing

สำหรับกรณีที่แกร็บมีคู่แข่งใหม่นั้น นายธรินทร์กล่าวว่ายังไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยแกร็บยังเตรียมเปิดตัวบริการชำระเงิน Grab Pay Wallet ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ จากนั้นแกร็บจะร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ในการเปิดบริการกู้ยืมเงินผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บต่อไป ส่วนใครจะกู้ยืมเงินได้บ้างนั้น ยังต้องรอความชัดเจนก่อน

Avatar photo