Digital Economy

‘อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง’ ตั้งทีมงานในกทม. เพิ่มศักยภาพผู้ค้าไทย ขยายธุรกิจทั่วโลก

“อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง” ในเครืออเมซอน ดอท คอม ประกาศตั้งทีมงานในไทย สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้ผลิตชาวไทยสร้างโอกาสในการส่งออก และขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ด้วยการเข้าถึงลูกค้าของอเมซอนทั่วโลก

6CA7B07E9DABD329B19EF81DB09623AB

นายเบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า  บริษัทยินดีที่ได้จัดตั้งทีมงานอเมซอน โกลบอล เซลลิ่งในไทย เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจของไทยมีศักยภาพมากในการส่งออกสินค้าเพื่อขายในช่องทางออนไลน์

ที่ผ่านมาได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ขายชาวไทยมาแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งอเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง มีจุดเด่นในด้านการมีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก และมีนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ขายทั่วโลก สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

การเปิดตัวสำนักงาน และทีมงานในประเทศไทยในวันนี้ (23 เม.ย.)  ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทีมงานของบริษัทในกรุงเทพฯ จะช่วยให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ค้นหาโอกาสที่จะทำธุรกิจและสร้างแบรนด์ของตนเองในตลาดโลก

ขณะที่นางบุษยากรณ์ เด เฮซูสเจ้าของ พีเจ วู้ด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ชั้นนำของประเทศไทย กล่าวถึงประสบการณ์การทำธุรกิจบนอเมซอนว่า  การทำธุรกิจบนอเมซอนถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญ เพราะทำให้บริษัทเข้าถึงลูกค้านับล้านๆ รายทั่วโลก

“เรายังได้ใช้ประโยชน์จากบริการ Fulfillment by Amazon หรือ FBA ซึ่งเป็นบริการที่อำนวยความสะดวกด้านการจัดการออร์เดอร์ และโลจิสติกส์ ช่วยให้การจัดส่งสินค้าข้ามประเทศเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังสามารถจัดการต้นทุนค่าขนส่งได้ดีขึ้นอีกด้วย เป้าหมายต่อไปของเราคือการขยายธุรกิจไปยังทุกๆ มาร์เก็ตเพลสของอเมซอน”

ส่วนนายนิวัฒน์ เอกรัชดากร เจ้าของแบรนด์วิริสมาหราแบรนด์เสื้อผ้าของไทย ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายสินค้าบนอเมซอน  และธุรกิจเติบโตขึ้นถึง 50%  บอกว่า การทำธุรกิจบนอเมซอน เปิดโอกาสให้บริษัทขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยอเมซอนมีโซลูชั่นครบวงจร ที่ช่วยให้เขาสร้างธุรกิจออนไลน์ระดับโลกได้ง่ายขึ้น

“ผมใช้บริการ FBA ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการออร์เดอร์และวางแผนสต็อกสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ FBA ยังช่วยจัดการเรื่องการเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักของธุรกิจเสื้อผ้าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เรายังชื่นชอบบริการ Amazon Sponsored Product ที่ช่วยให้ลูกค้าพบเห็นสินค้าของเราบนเว็บไซด์และสร้างยอดขายได้มากยิ่งขึ้น”

4FF7DC88D18BE548B0C40976601ABE22

เช่นเดียวกับนายเปรม สุดสังเกตุ ซีอีโอของ วิลกิ้นส์ คลีนเซอร์ แบรนด์สัญชาติไทยที่ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรองเท้า ที่ระบุว่า ยอดขายจาก อเมซอน ทำให้ธุรกิจของวิลกิ้นส์ เติบโตขึ้นกว่า 30%

“เราพยายามเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่าอเมซอน เป็นช่องทางที่สามารถทำให้ธุรกิจของเราเติบโตตามเป้าหมายได้ เรายังพบว่าข้อมูลรีวิวจากการขายสินค้าบน Amazon.com ทำให้เราได้เรียนรู้ความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในสหรัฐอเมริกา เรามีแผนที่จะต่อยอดธุรกิจบนอเมซอน ด้วยการออกสินค้าใหม่ๆเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า”

ปัจจุบัน ธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าผ่านอเมซอนมาจากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก อเมซอนระบุในจดหมายถึง ผู้ถือหุ้นในปี 2561 ว่าสัดส่วนยอดขายจากการขายสินค้าของธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตขึ้นจาก 3% ในปี 2542 เป็น 58% ในปี 2561 และกลุ่มบริษัทขนาดกลาง และย่อม (เอสเอ็มอี) กว่า 50,000 รายสร้างยอดขายบนอเมซอนได้รายละกว่า 500,000 ดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และเอสเอ็มอีกว่า 200,000 รายสร้างยอดขายได้รายละกว่า 100,000 ดอลลาร์

นอกจากนี้ จำนวนเอสเอ็มอีที่ทำยอดขายเกิน 1 ล้านดอลลาร์ผ่านร้านค้าออนไลน์บนอเมซอนมีการเติบโตกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา

Avatar photo