Finance

เทรดสนั่น ‘นอนแบงก์’ ดันมาร์เก็ตแคปแสนล้าน

ในช่วงเดือนเมษายน 2562 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.22% และกำลังค่อยๆไต่ระดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.70% เนื่องจากราคาหุ้นนอนแบงก์ปรับตัวขึ้นแรง ประกอบด้วย หุ้น GL เพิ่มขึ้น 20.90% รองลงมาหุ้น MTC เพิ่มขึ้น 17.05% และหุ้น KTC เพิ่มขึ้น 12.77%

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นนอนแบงก์ที่ปรับตัวขึ้นแรงส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) ของหุ้น 2 นอนแบงก์ คือ หุ้น KTC และ MTC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย  โดยหุ้น KTC มี Market cap อยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท จากช่วงเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 9.08 หมื่นล้านบาท ขณะที่หุ้น MTC มีระดับ Market cap อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท จากเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 9.32 หมื่นล้านบาท

มาร์เก็ตแคปนอนแบงก์รายเดือน 01

จากการสำรวจข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในเดือนเมษายน 2562 มีหุ้นที่มี Market cap ระดับ 1 แสนล้านบาทขึ้นไปมี จำนวน 36 หุ้น  โดยหุ้นที่มี Market cap สูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย หุ้น PTT มี Market cap อยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท รองลงมา AOT อยู่ที่ 9.82 แสนล้านบาท CPALL 6.91 แสนล้านบาท ADVANC 5.69 แสนล้านบาท และ SCC 5.52 แสนล้านบาท

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่า การที่หุ้น KTC ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้เพราะรายงานกำไรดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และได้รับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้นเพื่อให้สอดรับกับผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาเติบโตมากกว่า 30% จากงวดเดียวกันปีก่อน

ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การที่หุ้น KTC  ขณะนี้มี Market cap ของบริษัทได้ขึ้นไปอยู่ในระดับ 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนั้นระดับ Foreign free float (จำนวนหุ้นหมุนเวียนของต่างชาติ) และสภาพคล่อง(Liquidity) ของตัวหุ้นก็ถือว่าอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำให้ถือเพื่อรอรับกำไร (Let profit run) สำหรับ KTC ต่อไป

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า 4 เหตุผลที่ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง “เป็นบวก” หลัง KTC รายงานกำไร งวดไตรมาส 1/2562 ที่ 1.6 พันล้านบาท โดยกำไรดีกว่าคาด 18% เพราะหนี้สูญรับคืนมากกว่าคาด และสำรองน้อยกว่าคาด  ขณะที่ KTC มองว่า หนี้สูญรับคืนยังเป็นทิศทางขาขึ้น ส่วนสำรองยังเป็นทิศทางขาลง ในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงแนวโน้มสินเชื่อขยายตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ผลจากการเร่งขยายฐานลูกค้า และใช้โปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่ายเด่นกว่าคู่แข่ง และฝ่ายวิจัยปรับประมาณการกำไรปี 2562 2563 เพิ่มขึ้น 17% และ 21% ทำให้ราคาเหมาะสมขยับขึ้นเป็น 47 บาท พร้อมปรับคำแนะนำเป็นซื้อลงทุน

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจหลัก หรือ core-business ดีขึ้น ทั้งในด้านของรายได้ และค่าใช้จ่าย ผลักดันให้คาดว่าประมาณการกำไรสุทธิในปี 2562 อยู่ที่ 6,484 ล้านบาท  เติบโต 26% จากงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งกำไรมีการเติบโตที่โดดเด่น จึงได้เลือก KTC เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มนอนแบงก์

ขณะที่นักวิเคราะห์ ได้ประเมินหุ้น MTC โดยคาดการณ์ว่า บริษัทจะรายงานกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/2562 ออกมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนช่วงนี้

บล. ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดว่า MTC จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/2562 เติบโตโดดเด่นถึง 28% หนุนโดยการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง 35.7% จากงวดเดียวกันปีก่อน  นอกเหนือจากแนวโน้มกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งจากธุรกิจหลักแล้ว การร่วมทุนในธุรกิจใหม่ (เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์) และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มผ่อนคลายลงจะช่วยเพิ่มขึ้นจาการประมาณการ คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 58.00 บาท

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า MTC มีปัจจัยหนุนระยะสั้น คือไตรมาส 1/2562 กำไรจากธุรกิจหลักที่คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1,037 ล้านบาท เติบโต 24% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากขยายสาขาเพิ่ม 170 แห่งในไตรมาสนี้ รวมเป็น 3,449 สาขา เทียบกับเป้าหมาย 3,900 สาขา ณ ปลายปี 2562

ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ดี โดย NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% และ Coverage Ratio หรืออัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง 250% ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า เทียบกับสิ้นปี 2561 ที่ 3 เท่า ทั้งนี้ บริษัทจะเริ่มทำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในครึ่งหลังของปี 2562 โดยการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ผ่านบริษัทย่อย เมืองไทย ลิสซิ่ง ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าจะไปได้ดี เพราะบริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

ฝ่ายวิจัยให้ MTC เป็นหุ้นในกลุ่มเติบโตของปี 2562 โดยบริษัทมีแผนขยายสาขาจะเพิ่ม 600 สาขาในปีนี้, คาดการณ์สินเชื่อเติบโต 35% และกำไรสุทธิขยายตัวสูงต่ออีก 30% ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำซื้อ ฝ่ายวิจัยให้ราคาพื้นฐาน 63 บาท

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight