COLUMNISTS

เร่งแก้ไขปัญหา ‘ชาวเล’ ด้วย ‘โฉนดชุมชน’ (2)

Avatar photo
162

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงปัญหาของชาวเล “ชุมชนอูรักลาโว้ย โต๊ะบาหลิว” ที่ยื่นจดหมายร้องทุกข์ ขอให้หัวหน้าอภิสิทธิ์ช่วยเหลือ จากกรณีหน่วยงานรัฐมีคำสั่งบีบคั้นให้พวกเขาไร้ที่อยู่ที่ทำกิน ทั้งๆ ที่ตั้งรกรากมาเกือบ 90 ปี

สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากระบี่ ทำหนังสือถึงชาวบ้านในชุมชนอูรักลาโว้ย โต๊ะบาหลิว ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ โดยอ้างว่าไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาตได้ จำนวน 17 ประเภท ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง และการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 32/2560 และสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน ทั้งๆ ที่ชุมชนนี้อยู่ในข่าย 17 ประเภทที่ได้รับการอนุญาต คือ เป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม การประกอบอาชีพในภาคการเกษตร และศาสนสถาน ซึ่งกรมเจ้าท่าให้เวลาชาวบ้านในการยื่นอุทธรณ์ภายใน15 วัน

ล่าสุด รองหัวหน้าพรรค นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้ช่วยชาวบ้านในเรื่องการยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากระบี่แล้ว

S 24780842

3 ประเด็นหลักที่ใช้ในการโต้แย้ง คือ

  • สิ่งปลูกสร้าง ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เป็นการปลูกสร้างก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2537 แต่ขอเลขทะเบียนบ้านภายหลัง ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2537 ก็ถือว่าเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง และการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำตามคำสั่ง คสช.ที่32/2560 แล้วโดยสามารถพิสูจน์การอยู่อาศัยก่อนวันที่ 24 สิงหาคม2537 ได้จากภาพถ่ายทางอากาศ
  • ที่อยู่อาศัยในชุมชนโต๊ะบาหลิว ทางราชการ และราษฎรในหมู่บ้าน ได้มีการตกลงออกเป็นโฉนดชุมชน มีการปักหมุดไว้แล้ว จึงได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัยในพื้นที่ได้
  • ชุมชนบ้านโต๊ะบาหลิว เป็นชุมชนของ “ชาวเล” ที่มีมานานก่อนปี 2537 โดยครม.ในรัฐบาลอภิสิทธิ์มีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบ แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ให้มีการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ด้วยการออกโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคม และวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิผ่านภาพถ่ายทางอากาศและด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิแต่เพียงอย่างเดียว

ข้อมูลข้างต้นเป็นการต่อสู้เฉพาะหน้าของชาวเลเพื่อรักษาถิ่นที่อยู่ของตัวเอง ยังไม่ทราบชะตากรรมข้างหน้าว่า หน่วยงานรัฐจะมีดุลพินิจอย่างไร

ชีวิตของชาวเลจึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไร้ความมั่นคงในเรื่องของถิ่นอาศัย และยิ่งดูมืดมนมากขึ้น เมื่อได้รับรู้ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อชาวเล โดยพยายามเบี่ยงประเด็นไปว่า เรื่องของชาวเลอาจเป็นปัญหาการบุกรุกป่าชายเลน อาจไม่ใช่การล่วงล้ำน้ำอีก

ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเอกสารที่แจ้งมาถึงชาวเลว่า ล่วงล้ำลำน้ำคืออะไร

กลายเป็นว่าประชาชนกำลังถูกเตะไปมาระหว่างหลายกฏหมาย หลายข้อบังคับ เหมือนเครื่องประหารทรมานโบราณ ที่เอาคนใส่ตระกร้อยักษ์แล้วยังปักตะปูส่งให้ช้างเตะเล่นไปมาจนกว่าจะตาย

ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้แต่กฎหมายที่จ้องขับไล่ โดยมองว่าชาวเลคือผู้ละเมิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนในการกล่าวหา นอกจากสมมติฐานในเชิงลบที่มีต่อชาวเล โดยไม่มีการพิจารณาถึงแนวทางแก้ปัญหาที่มีการออกมติครม. มาแล้วว่า ให้พิสูจน์สิทธิโดยไม่ให้คำนึงถึงแต่เรื่องเอกสารสิทธิเพียงอย่างเดียว และปล่อยให้การออกโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของชาวบ้านขณะนี้กลับไม่ได้รับความสนใจ ทำไมไม่ศึกษามติครม.ที่ออกมาฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลก่อน

กลายเป็นว่ากลไกรัฐกำลังรังแกชาวเล แทนที่จะปกป้องคนไร้ที่ดินทำกินที่ยากจน และด้วยวิธีคิดการปฏิบัติเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยังออกปากว่า ปฎิรูปประเทศไม่มีทางสำเร็จ ถ้าให้ข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อน

สิ่งที่จะช่วยชาวเลและชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันได้คือ นโยบายที่ชัดเจนจากส่วนกลาง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการสานต่อสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้วางรากฐานไว้ คือ ใช้โฉนดชุมชนมาแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน

สภาปฏิรูปแห่งชาติที่คสช.ตั้งขึ้นมาชุดแรก ก็มีการให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2558 แต่ผ่านมาเกือบสามปียังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลคสช. ต้องเร่งผลักดันให้กฎหมายทั้งสองฉบับคลอดออกมาโดยเร็ว

แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายโฉนดชุมชนก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะยังมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ที่ออกในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้

ดังนั้นหากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ก็ควรสานต่อ และประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินตามแนวทางนี้ เพื่อให้หน่วยงานรัฐยึดถือปฏิบัติ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐออกนอกลู่นอกทางไปจากสิ่งที่รัฐบาลกำหนดไม่ได้

นอกจากจะช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนแล้ว ยังถือเป็นการปฏิรูปประเทศในเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่จับต้องได้อีกด้วย

การนำนโยบาย “โฉนดชุมชน” มาใช้ในการแก้ปัญหา บนหลักการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม จะช่วยคุ้มครองคนตัวเล็ก ตัวน้อย ให้มีความมั่นคงทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยไม่ถูกการพัฒนาเข้าไปแทรกแซง ไม่โดนนายทุนบีบคั้น และมีแผ่นดินเหยียบยืนที่แข็งแรงมั่นคง จนทำให้ “ชาวเล” ได้อยู่ “เขา” ชาวเลได้อยู่ “เล” ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้เวลานาน

อยู่ที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. จะ “ทำ” หรือไม่

เร่งแก้ไขปัญหา ‘ชาวเล’ ด้วย ‘โฉนดชุมชน’ Add Friend