Finance

ป่วนหนัก!! คลังไล่บี้รีดภาษีดอกเบี้ยเงินฝากทุกบัญชี

สรรพากร “ไล่บี้” ป้องเปิด-ปิดบัญชีใหม่เลี่ยงภาษี ประกาศเก็บดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้ที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จากเดิมที่ผ่อนผันให้ ยกเว้นรายที่เซ็นยินยอมกับแบงก์ เพื่อนำข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อสรรพากร ดีเดย์ 15 พ.ค.นี้  แบงก์โวยระบบไม่พร้อมเวลาสั้นเกินไป ลั่นลูกค้ารายใดไม่เซ็นยินยอมดอกเบี้ยบาทเดียวก็ต้องจ่ายภาษี หวั่นสรรพากรตามเล่นงาน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีกรมสรรพากร ได้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบบัที่ 344) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ย เงินฝาก ที่ต้องจ่ายคืน เมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงนิฝาก ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคนืเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์  ไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ลงในประกาศ

ประกาศดังกล่าวระบุให้ประชาชนที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และประสงค์ขอสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องนำดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารเพื่อให้ความยินยอมให้ธนาคาร นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากต่อกรมสรรพากร

เอกนิติ 2
ภาพเฟสบุ๊กกรมสรรพากร

บีบลูกค้าเซ็นยินยอมข้อมูล

ทั้งนี้ผู้ฝากเงินที่ได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เดิมกรมสรรพากรผ่อนผันให้ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ของใหม่จะยกเว้นให้กับลูกค้าที่ไปลงทะเบียนยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ย ไปยังกรมสรรพากรเท่านั้น ส่วนลูกค้าที่ไม่ยอมเซ็นยินยอมกับธนาคารจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทุกราย

อย่างไรก็ดี เวลานี้ประกาศของกรมสรรพากรได้สร้างความวุ่นวายไปทั้งในส่วนของธนาคารและลูกค้าผู้ฝากเงิน เชื่อว่าลูกค้าจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เช่นเดียวกับในส่วนของธนาคารจะสามารถดำเนินการได้ทันตามเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด ให้ธนาคารส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้

สมาคมแบงก์ตื่นแจ้งสมาชิก

รายงานข่าวจากธนาคาร แจ้งว่าเมื่อเช้าวันนี้ (19เม.ย.) นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารสมาชิก เพื่อแจ้งประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้(ฉบับที่ 344) เมื่อเช้าวันที่ 19 เมษายน 2562

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ให้ประชาชนที่มีบัญชีเงินฝากออมทรัยพ์และประสงค์ขอสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องนำดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารเพื่อให้ความยินยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนเงินฝากต่อกรมสรรพากร

สมาคมแบงก์11

ทางสมาคม ชมรมนักกฎหมาย และคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ อยู่ระหว่างจัดทำแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอม รวมถึงระบบงานและแนวทางในการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปฎิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

จึงขอให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์, Call Center และหน่วยงานสาขาของท่านเพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า” ธนาคารอยู่ระหว่างจัดเตรียมหนังสือให้ความยินยอม เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกรมสรรพากร และระบบงานรองรับการให้ความยินยอมของลูกค้า ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเพือ่ดำเนินการต่อไป”

แบงก์ป่วนระบบไม่พร้อม

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคาร กล่าวว่าประกาศดังกล่าวสร้างความวุ่นวายหนัก ทั้งในส่วนของธนาคารและลูกค้า ปัจจุบันลูกค้าที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% เท่ากับไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ถ้าลูกค้าที่มีดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษี 15% อยู่แล้ว

ประกาศกรมสรรพากรฉบับใหม่ มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา คือบังคับให้ลูกค้าให้ความยินยอมกับธนาคารพาณิชย์ ในการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อ สรรพากร เพื่อเห็นข้อมูลดอกเบี้ยที่ลูกค้าได้รับหากรวมกันทุกบัญชีเกิน 20,000 บาทต่อปีก็จะถูกไล่ล่าเสียภาษี ดังนั้นจากนี้ไปลูกค้าทุกรายต้องเซ็นยินยอมกับแบงก์กรณีที่ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อ เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

“สรรพากรให้เหตุในการออกประกาศฉบับนี้ว่า เมื่อก่อนมีแบงก์บางแบงก์ไปช่วยลูกค้าเลี่ยงจ่ายภาษี แต่เชื่อว่าเหตุผลลึกๆต้องการไปเก็บข้อมูลรายได้ของประชาชนก็จะเห็นข้อมูลมากขึ้นจะได้รีดภาษีได้ง่ายขึ้น”

แต่ปัญหาที่ตามมาธนาคารแต่ละแห่งมีลูกค้าเงินฝากไม่ต่ำกว่า 10 ล้านราย การที่จะต้องไปเก็บข้อมูลลูกค้าให้ทันกับเวลาที่กำหนดน้อยมาก ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ละแบงก์ไม่สามารถสร้างระบบขึ้นมาได้ทัน

จากข้อมูลของโพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าคนไทย 88% มีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 5 หมื่นบาท และมีเพียง 1% ที่มีเกิน 1 ล้านบาท ธปท.ยังระบุถึงบัญชีที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด(ตามกราฟฟิก)

 

บัญชีที่คนไทยนิยมทำมากที่สุด 01 1

“ประกาศสรรพากรครั้งนี้เป็นการไล่ล่าผู้ฝากเงินเย็น หรือกลุ่มเกษียณอายุที่ต้องการเก็บเงินออม โดยพึ่งรายได้จากดอกเบี้ย เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ได้คืนแน่นอน แต่ตอ่ไปนี้เท่ากับเป็นการผลักคนกลุ่มนี้ให้ไปลงทุนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นกู้ เล่นหุ้น หรือกองทุนมากกว่า”แหล่งข่าว ระบุและว่าประกาศสรรพากรมีตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562 แต่กลับเพิ่งจะส่งให้กับทางสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายนนี้

บีบแบงก์บังคับลูกค้ารีดภาษี

ดังนั้นเท่ากับว่าลูกค้ารายไหนไม่เซ็นยินยอมแบงก์ก็จะหัก 15% ส่งกรมสรรพากรไปเลย กฎหมายเขียนไว้เลยถ้าลูกค้ารายไหนไม่ยินยอมแบงก์ต้องหักภาษี 15%ไปเลย  จะได้ดอกเบีย 3,000 บาท หรือ 5,000 บาทก็ส่งสรรพการไปเลย ทั้งๆที่เดิมใครได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี ไม่ต้องทำอะไรเลย”การทำงานของกรมสรรพากร “เหมือนบีบแบงก์ให้ไปบังคับลูกค้า”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่าประกาศดังกล่าวในส่วนของแบงก์ก็จะได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยจะมีปัญหามากกับแผนการระดมเงินฝาก ปกติเวลาแบงก์ปล่อยสินเชื่อไปจำนวนมากๆ แบงก์ก็ต้องไประดมเงินฝากเพื่อมาสำรองไว้ การระดมทุนก็จะทำได้ยากขึ้น ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อก็จะน้อยลง การบริหารต้นทุนในธุรกิจแบงก์ก็จะยากมาก

ผงะดอกเบี้ย 1 บาทก็ต้องเสียภาษี

ตามประกาศสรรพากรฉบับใหม่ ไม่ว่าลูกค้าจะได้ดอกเบี้ยปีละเท่าไหร่ หากไม่เซ็นยินยอมให้กับแบงก์ทางแบงก์ก็จะถูกหักภาษี15% ส่งสรรพากรไปโดยอัตโนมัติไม่เช่นนั้นแบงก์ก็จะมีความผิด ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ฝากเงินทั้งหมดที่จะโดนไล่ล่าจ่ายภาษี

“ต่อไปใครที่ได้ดอกเบี้ยแม้บาทเดียว ร้อยเดียวก็ถูกเสียภาษีทั้งหมด สมมุติได้ดอกเบี้ย 1 บาท แล้วไม่เซ็นยินยอมให้แบงก์ทางแบงก์ก็จะหัก15 สตางค์ ส่งสรรพากร หรือเดิมเคยได้ดอกเบี้ยปีละ 5,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ต่อไปก็ต้องถูกหัก15% ของ 5,000 บาท ส่งสรรพากรก่อนเลย ส่วนคนที่เกิน 20,000 บาทเสียภาษีเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

สรรพากร 3

สรรพากร 4

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight