Economics

27 รายแห่ชิงประมูลนำเข้า ‘แอลเอ็นจี’ กฟผ.

การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีครั้งนี้ เป็นที่สนในของวงการพลังงานไม่น้อย เพราะเป็นการซื้อก๊าซฯโดยตรงของกฟผ.ครั้งแรก หลังจากซื้อผ่าน บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) มาตลอด เพื่อให้กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงรายใหญ่ของประเทศ ชิมลางระบบการเปิดเสรีกิจการก๊าซฯของไทย

โดยวันนี้ (18 เม.ย.) เป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้เอกชน ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาแอลเอ็นจีนำเข้ามาให้กฟผ.พิจารณา

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ โฆษก กฟผ. กล่าวว่า วันนี้ (18 เม.ย.) เป็นวันครบกำหนดที่กฟผ.เปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification :PQ ) ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคา เพื่อจัดหาแอลเอ็นจี ปริมาณ 8 แสนตัน จนถึงไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้กับกฟผ. ล่าสุดมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 31 ราย และมี 4 รายถอนตัว เหลือ 27 รายที่ทยอยมายื่นข้อเสนอวันนี้

คุณพัฒนา แสงศรีโรจน์ 3
พัฒนา แสงศรีโรจน์

คาดว่าจะสามารถพิจารณาด้านราคา และประกาศผู้ชนะประมูลภายในเดือนนี้ และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือนพฤษภาคม เพื่ออนุมัติให้กฟผ.ลงนามสัญญาผูกพันซื้อแอลเอ็นจี และนำเข้าล็อตแรกภายในช่วงเดือนกันยายน 2562

อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะต้องพิจารณาภายหลังเปิดซองก่อนว่า มีผู้นำเสนอจัดหาให้กฟผ.ในปริมาณเท่าใด หากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสนอขายไม่ถึง 1.5 ล้านตัน ก็ต้องประมูลอีกครั้ง เพื่อให้ครบจำนวน

 

ส่วนการนำเข้าแอลเอ็นจี จะจบในการจัดซื้อล็อตนี้หรือไม่ อยู่ที่ผู้เสนอราคาแอลเอ็นจีต่ำที่สุดนั้น จะต้องเป็นราคาที่ไม่สูงกว่าราคาแอลเอ็นจีต่ำสุดตามสัญญาซื้อก๊าซฯระยะยาวของ บริษัท ปตท. เพื่อไม่ให้เกิดภาระเพิ่มกับต้นทุนค่าไฟฟ้า และสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ

แอลเอ็นจี 4

หากจัดหาแอลเอ็นจีล็อตนี้ ได้ในราคาสูงกว่าสัญญาซื้อก๊าซฯระยะยาว  มี 2 ทาง คือ ยกเลิกประมูล และให้มีการประมูลใหม่ หรือ ให้กฟผ.ชะลอจัดซื้อเอง และให้ซื้อตรงจากบริษัทปตท.เช่นเดิมไปก่อน ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้การการจัดหาแอลพีจีของกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีนั้น ในเบื้องต้นจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 ขนาด 700 เมกะวัตต์ก่อน  ส่วนที่เหลือใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง เพราะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับต้นทุนการนำเข้าแอลเอ็นจี

สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับกับ การที่กฟผ.จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ    แอลเอ็นจีในอนาคต หลังการเปิดเสรีกิจการก๊าซฯนั้น คาดว่าคงต้องชะลอออกไป เพื่อให้ครม.ชุดใหม่ และรัฐสภาใหม่มาพิจารณา

Avatar photo