Politics

ปิดฉากสงกรานต์เลือด! ยอดเสียชีวิตรวม 386 รายลดลง 7.66%

ปิดฉากสงกรานต์เลือด! ยอดเสียชีวิตรวม 386 รายลดลง 7.66% บาดเจ็บ 3,442 คน เผย 4 จังหวัดยอดตายเป็นศูนย์ ส่วน “ลพบุรี-อุดรธานี” มียอดเสียชีวิตสะสมสูงสุด

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 273 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 คน ผู้บาดเจ็บ 277 คน

104356

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 38.10% และตัดหน้ากระชั้นชิด 26.74% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 79.15% รถปิกอัพ 7.42% ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 72.89% บนถนนกรมทางหลวง 46.15% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 25.64% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 08.01 – 12.00 น. และ 12.01 – 16.00 น. มีค่าเท่ากัน 23.81%

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,454 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 981,987 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 210,883 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 55,805 ราย ไม่มีใบขับขี่ 48,183 ราย

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (11 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11 – 17 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา สุโขทัย และอ่างทอง

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 128 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และอุดรธานี (จังหวัดละ 15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (136 คน)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ 36.61% ขับรถเร็วเกินกำหนด 28.31% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 79.25% ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 66.15% บนถนนกรมทางหลวง 39.48% ถนนในอบต./หมู่บ้าน 35.98% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. 29.09%

นายสุธี กล่าวว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 7.66% รวมถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับลดลงถึง 3.67% ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Avatar photo