POLITICS-GENERAL

ขู่ผู้ประกอบการตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อน ชี้โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ!

คุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 68.59 % หลังคุมเข้ม กรมอนามัย ย้ำผู้ประกอบการ ต้องยื่นขออนุญาตจาก อปท. หากไม่ดำเนินการ อาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอย่างดี เพราะขาดการดูแลรักษา ขณะเดียวกันก็เป็นที่พึ่งของหลายครอบครัว เพราะเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาถูก ที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้ง่าย หลายปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข จึงเข้าไปตรวจเข้มร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาสังคม

S 20611188 2
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง พบว่าคุณภาพน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญ มีแนวโน้มดีขึ้น ในปี 2561 ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ 68.59 % สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียง 40.9 %

ปัญหาหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากไม่มีการดูแลรักษาความสะอาดของตู้น้ำหยอดเหรียญ และขาดการบำรุงรักษาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำภายในตู้ เช่น ไม่ล้างไส้กรอง ไม่เปลี่ยนไส้กรอง เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนที่ใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ ควรสังเกตสภาพของตู้น้ำหยอดเหรียญ ทั้งภายใน และภายนอกตัวตู้ โดยกรมอนามัยแนะนะวิธีสังเกต 7 จุด ดังนี้

  1. ตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม
  2. จุดติดตั้ง ต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูล
  3. ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่มีคราบสกปรก หรือฝุ่นละออง
  4. หัวจ่ายน้ำ ต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสมกับอาหาร เช่น สแตนเลส ไม่ควรเป็นท่อพลาสติก หรือสายยาง และ ต้องสะอาด ไม่เป็นตะไคร่ หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ
  5. สี และกลิ่นของน้ำ จะต้องไม่ผิดปกติ
  6. ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดง คำแนะนำการใช้งาน
  7. มีสติ๊กเกอร์แสดงรายการตรวจสอบ หรือดูแลรักษา ที่น่าเชื่อถือ ระบุชื่อบริษัทเจ้าของ ชื่อผู้ตรวจวันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน

หากพบตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ มีสภาพชำรุด หรือสงสัยว่า น้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญนั้น ไม่สะอาด อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบ และดูแลได้ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายการสาธารณสุข

ตู้น้ำหยอดเหรียญ

ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ออกมาตรการส่งเสริมให้ การประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย และมีสุขลักษณะที่ดีในการประกอบกิจการ ดังนี้

  • การจัดทำคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ
  • การจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่อง สุขลักษณะการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ
  • การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนา ระบบคุณภาพในการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ (EHA 2003)
  • พัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชน

ในส่วนของการควบคุมกำกับการประกอบกิจการตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 นั้น ต้องอาศัยอำนาจ ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในการกวดขันด้านสุขลักษณะ ตามข้อบัญญัติท้องถิ่น และกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการขออนุญาต โดยผู้ประกอบการจะต้องมายื่นขออนุญาต จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ประกอบกิจการ

ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Avatar photo