Economics

ผวา!! กรมชลฯเตือน 8 เขื่อนใหญ่น้ำน้อย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และกลางทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 44,439 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น58% เป็นนํ้าใช้การได้ 20,514 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 39% น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 4,602 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจํานวน 25.51 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 123.88 ล้านลบ.ม. ต่อวัน

โดยได้วางแผนการใช้น้ำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 จากปริมาตรนํ้าต้นทุน สามารถใช้การได้  39,570 ล้านลบ.ม.โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 23,100 ล้านลบ.ม. ตามความสำคัญ เช่น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้านลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม.และอุตสาหกรรม 303 ล้านลบ.ม.

เขื่อน3

สำหรับจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.จากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ 6,500 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน 400 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 400 ล้านลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม.แยกเป็น เพื่อการอุปโภค – บริโภค 1,140 ล้านลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ และอื่นๆ 1,450 ล้านลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,410 ล้านลบ.ม.

การจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง ปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 20,495 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 89% ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ และลุ่มนํ้าแม่กลอง โดยวันนี้ระบายไป 41 ล้านลบ.ม. รวมใช้น้ำไปแล้ว 8,237 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 103% ของแผนจัดสรรน้ำ

โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เกินแผน 5.5 แสนไร่ จากแผนจัดสรรน้ำ 5.30 ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกแล้วรวม 5.85 ล้านไร่ นอกจากนี้ จากแผนปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ปลูกเกิน 8.74 ล้านไร่ อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยว 5.40 ล้านไร่ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกนาปรังต่อเนื่อง เพื่อไม่ต้องนำน้ำสำรองฤดูหน้ามาใช้

เขื่อน

นายทองเปลว กล่าวว่ากรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี นาปรัง อุปโภคบริโภค พืชไร่ ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 จํานวน 1,851 เครื่อง ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือตามพื้นที่ 198 เครื่อง ในส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปี และพื้นที่ปลูกนาปรัง

นายทองเปลว กล่าวว่าขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 8 เขื่อน เช่น เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำใช้การ 21% เขื่อนอุบลรัตน์  1% เขื่อนลำปาว 22% เขื่อนลำพระเพลิง 23% เขื่อนป่าสักฯ 23% เขื่อนทับเสลา 15% เขื่อนกระเสียว 6% เขื่อนขุนด่านปราการชล 23% โดยมติคณะกรรมการร่วมใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ให้ดึงน้ำก้นเขื่อนมาใช้อุปโภคบริโภคตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้

ทองเปลว 33
ทองเปลว กองจันทร์

“ยืนยันว่าในพื้นที่เขตชลประทาน จะไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน แม้จะเกิดปรากฏการณ์แอลนินโญ่ ที่จะส่งผลกระทบให้ฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ได้ถูกจัดสรรอย่างเพียงพอไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562  ยังเพียงพอสำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน”นายทองเปลว กล่าว

ขอบคุณภาพ :เรารักชลประทาน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight