POLITICS-GENERAL

อุบัติเหตุสะสมสงกรานต์ 62 ลดลง 209 ครั้ง หลังเข้มมาตรการเมาไม่ขับ

ศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562 สรุปสถิติ 5 วัน เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2,702 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 290 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่ยังเป็นดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว เข้มมาตรการเจาะเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ พร้อมดำเนินคดีกลุ่มที่สร้างความวุ่นวายในโรงพยาบาล

118342 e1555407465328
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการดำเนินงานป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุสะสม 2,702 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 290 ครั้ง

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 ราย รองลงมา นครศรีธรรมราช 100 ราย  และนครราชสีมา 82 ราย

ผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ด้วยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ในรอบ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11  – 15  เมษายน 2562 มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดทั้งหมด 1,814 ราย ในจำนวนนี้มีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  51% และในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 33 %

118343 e1555407543310

สำหรับผลการสุ่มตรวจสถานประกอบการ และร้านค้า ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2562 รวมทั้งสิ้น 1,301 ครั้ง พบการกระทำผิด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขายนอกเวลา โฆษณาส่งเสริมการตลาด และขายในพื้นที่ห้ามขาย ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย หากประชาชนพบการกระทำผิด เช่น ขายริมทาง ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่มีอาการมึนเมา ขายในเวลาห้ามขาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด่านชุมชน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนปฏิบัติงานตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสกัดผู้ดื่มแล้วขับไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน

และประชาสัมพันธ์ร้านค้าในหมู่บ้าน ไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่เมาสุรา ไม่ขายในสถานที่ห้ามขาย และไม่ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์

ส่วนกรณีวัยรุ่นยกพวกตีกันในบริเวณห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ ตกใจหวาดกลัว นพ.สุขุม ระบุว่าถือเป็นการบุกรุกสถานที่ราชการ และขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการ ให้ดำเนินคดีถึงที่สุด พร้อมกันนี้ได้เพิ่มมาตรการการดูแล และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อดูแลประชาชนที่มารับบริการ และเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการให้ปลอดภัย

Avatar photo