Business

ในวันที่ ‘ธุรกิจสายการบิน’ เริ่มบินไม่สูง

ย้อนกลับไปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “สายการบิน” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรกันอย่างอู้ฟู่ ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินไทยที่มีการขยายเส้นทาง รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ทำให้เราได้เห็นสายการบินหน้าใหม่ กระโดดเข้ามาแย่งชิงเค้กก้อนใหญ่นี้ในอุตสาหกรรมการบินไทยกันอย่างดุเดือด จนการแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airlines)  

โดยมาขยายตัวสุดขีดในปี 2558 ที่ประเทศไทยทำการเปิดเสรีน่านฟ้า จากแต่ก่อนอนุญาตให้เพียงไม่กี่สายการบินเข้ามาลงทุนและจำกัดเส้นทางบริการ แต่ด้วยข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้สายการบินของต่างประเทศ สามารถเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้นทันที

แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวและจำนวนผู้ใช้บริการสนามบินบินจะเติบโตทุกปี เพราะโลเคชั่นของไทยที่เป็น Hub ทางท่าอากาศยานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ต้องอย่าลืมว่าการแข่งขันที่ฝุ่นตลบแบบนี้ บวกกับต้นทุนหลักของสายการบินอย่าง “ราคาน้ำมัน” ที่มีความผันผวนจนควบคุมไม่ได้

จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมวันนี้ สถานการณ์รายได้และผลกำไรของหลายบริษัทสายการบินถึงกำลังยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้

สรุปรายได้-กำไร ธุรกิจสายการบิน 4 ปีย้อนหลัง

การบินไทย : บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI

ปี 2558 รายได้ 192,591 ล้านบาท ขาดทุน 13,047 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 181,446 ล้านบาท กำไร 15.14 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 190,535 ล้านบาท ขาดทุน 2,072 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 200,586 ล้านบาท ขาดทุน 11,569 ล้านบาท

ThaiAirways

บางกอกแอร์เวย์ส : บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

ปี 2558 รายได้ 25,407 ล้านบาท กำไร 1,796 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 27,451 ล้านบาท กำไร 1,768 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 29,309 ล้านบาท กำไร 787 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 28,746 ล้านบาท กำไร 249 ล้านบาท

BangkokAirways

นกแอร์ : บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK

ปี 2558 รายได้ 14,296 ล้านบาท ขาดทุน 726 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 16,938 ล้านบาท ขาดทุน 2,795 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 20,377 ล้านบาท ขาดทุน 1,854 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 19,740 ล้านบาท ขาดทุน 2,786 ล้านบาท

Nok Air

ไทยแอร์เอเชีย : บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV

ปี 2558 รายได้ 30,463 ล้านบาท กำไร 1,078 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 33,130 ล้านบาท กำไร 1,869 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้ 37,282 ล้านบาท กำไร 1,477 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 40,200 ล้านบาท กำไร 69 ล้านบาท

AirAsia

หากลองไล่เรียงตัวเลขดู คงเห็นได้ชัดเลยว่าผลประกอบการ 4 สายการบินหลักในไทย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล้วนแต่ในอยู่สถานการณ์น่าเป็นห่วงด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะการบินไทยและนกแอร์ ที่ในปีล่าสุดยังเจอกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก

หรือแม้กระทั่ง บางกอกแอร์เวย์สและไทยแอร์เอเชีย ที่เคยทำกำไรอย่างมหาศาล กลับมีกำไรลดลงแบบน่าใจหายไม่ต่างกัน

เรื่องนี้คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนเลยว่า ธุรกิจสายการบินในวันนี้อาจจะไม่ใช่ Blue Ocean ที่ไม่ว่าใครเข้ามาก็ประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็น Red Ocean ที่แข่งขันรุนแรง พยายามหั่นราคากันแทบไม่เหลือกำไร

สุดท้ายคงต้องคอยติดตามกันว่าในปีนี้ แต่ละสายการบินจะงัดกลยุทธ์อะไรออกมาใช้ เพื่อรับมือกับคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่าใครที่บริหารต้นทุนและเข้าใจตลาดได้ดีกว่า เชื่อว่าในไม่ช้าคงสามารถพลิกกลับมาบินสูงขึ้นอีกครั้ง

Avatar photo