COLUMNISTS

สิ่งมหัศจรรย์ของเวียดนาม คือ ‘ชาติ’ มาก่อนเสมอ

Avatar photo
7656

หลายคนมาเยือนเวียดนามต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มาแต่ละครั้ง คือ “การเปลี่ยนแปลง” ทุกวงการต่างตกตะลึงในการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของเวียดนามในทุกด้าน ทั้งการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม

adult 1822695 640

ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่มาจากการปักธงที่จะปฏิรูปประเทศให้ก้าวทัดเทียมประเทศ อื่นๆ ความตั้งใจเมื่อปี 2529 ผ่านมา 32 ปี ระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเปลี่ยนไป

ภายใต้ “โด่ย เหมย” (Doi Moi Revolution) ซึ่งเป็นการกำหนด ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 6 ประการ เพื่อยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

  1. การกระจายอำนาจบริหารแก่ ภาคธุรกิจและท้องถิ่น
  2. ระบบเศรษฐกิจเสรี
  3. อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด
  4. สำหรับนโยบายเกษตร ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาว และเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร
  5. เพิ่มบทบาท ภาคเอกชน
  6. เปิดเสรีด้านลงทุน

เวียดนามยังวางเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการพัฒนา ให้พ้นสภาพประเทศ ยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รักษาวัฒนธรรม และ ก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายในปี 2563 ภายใต้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจ

จากการติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อเวียดนามอย่าง VOVWORLD สถานีวิทยุเวียดนาม-ส่วนกระจายเสียงแห่งชาติ เผยแพร่ข่าวสารการเดินหน้าของเวียดนามเป็นภาษาไทย ทำให้ฟันธงได้เลยว่า เวียดนามไปถึงฝันในอีกไม่กี่ปีนี้แน่นอน

ด้วยแต่ละวันปรากฎข่าวสารการสานสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆมีอย่างต่อเนื่องถี่ยิบ เช่น การบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ของข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขอบเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลก  จากการเข้าร่วมของ 11 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

ตามเนื้อหาของข้อตกลงนี้ จะมีการปรับลดภาษีสำหรับสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม ผ่อนปรนเงื่อนไขข้อกำหนดด้านการลงทุนและเพิ่มการปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญา

tsctngay10thang4 szsm

และข่าวสารล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการเยือนเวียดนามของ มาร์ค รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอรแลนด์ ผลคือ การยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็นหุ้นส่วนในทุกด้าน โดยเฉพาะความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบริหารแหล่งน้ำ การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน และความมั่นคงด้านอาหาร และห้วงเวลานี้ ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายน นาย เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกำลังเยือน โรมาเนีย และสาธารณรัฐเช็ก

อีกกลยุทธ์สำคัญของเวียดนามในการทะยานไปข้างหน้า ก็คือ การตั้งชมรมชาวเวียดนามที่อยู่ทั่วทุกหัวระแหงในต่างประเทศ และในประเทศไทยมีแน่นอน เพื่อหลอมใจชาวเวียดนามให้นึกถึงประเทศแผ่นดินพ่อแม่

ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในการสื่อสารของนายเหงียน ซวน ฟุก ขณะพบเจ้าหน้าที่สถานทูต และตัวแทนของชมรมชาวเวียดนามที่อาศัยในประเทศโรมาเนีย

“ชาวเวียดนามโพ้นทะเลเป็นส่วนหนึ่ง ที่ไม่อาจแยกออกจากประชาชาติเวียดนามได้ และขอให้ทุกคนพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ชุมชน สร้างสรรค์ประเทศ และมุ่งใจสู่ปิตุภูมิ “

vov thu tuong dang huong tuong nho cac vua hung 2 yznz mcsi

และจุดหลอมใจชาวเวียดนามเข้าด้วยกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ก็คือ พิธีบวงสรวงบรรพกษัตริย์หุ่งเป็นประจำทุกปี จัดขึ้นทุกๆวันที่ 10 เดือน 3 ตามจันทรคติ โดยมีชมรมชาวเวียดนามที่อยู่ในแต่ละประเทศเป็นตัวตั้งตัวตี  ปี 2562 ถูกจัดเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อย้ำเตือนสุภาษิตเวียดนาม “ดื่มน้ำต้องคิดถึงแหล่งที่มาของน้ำ” หมายถึง “คิดถึงรากเหง้าของตนเอง” 

นายเจือง เติ้น ซาง อดีตประธานาธิบดีเวียดนาม ได้ยืนยันถึงความหมายของพิธีสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งไว้ว่า

การเซ่นไหว้บรรพกษัตริย์หุ่ง ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณ ที่ขอให้บรรพชนคุ้มครองให้ประเทศสงบสุข และเจริญรุ่งเรือง ประชาชนได้อยู่ในสันติภาพ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเท่านั้น หากยังเป็นการเตือนสติ ให้เสริมสร้างความสามัคคี และความช่วยเหลือจุนเจือกันของคนเวียด ที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน ทำให้ความเลื่อมใสศรัทธาบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ยังคงอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ อันเป็นการหล่อเลี้ยงจิตใจ และความมุ่งมั่นของประชาชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานสร้างพลังอันแข็งแกร่งของชาติ ที่ทำให้เราสามารถฟันฝ่าความยากลำบาก และความท้าทายต่างๆ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป

bemacdiendantrithuctreviettoancau mowk

อีกยุทธศาสตร์ของเวียดนามในการดึงสรรพกำลังเพื่อพัฒนาชาติ ก็คือ การระดมคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่อยู่ต่างประเทศให้เดินทางกลับมาตุภูมิ เพื่อพบปะกันทุกปี เรียกว่า “ฟอรั่มปัญญาชนรุ่นใหม่เวียดนามโลก” จัดครั้งแรกเมื่อ วันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2561 ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสริมแหล่งพลังของปัญญาชนรุ่นใหม่ ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” ณ นครดานัง มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกว่า 200 คน

ฟอรั่มนี้ต้องการขอความเห็นจากปัญญาชนชาวเวียดนามที่อยู่ในประเทศต่างๆ  3 หัวข้อหลัก คือ การผลักดันการพัฒนาระบบสะเต็มเพื่อสร้างแหล่งบุคลากรที่มีคุณภาพสูงในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างสร้างสรรค์ในการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเป็น “ประเทศแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพ” ประกาศโดย นาย หวู เตี๊ยน หลก ประธานหอการค้า และอุตสาหกรรมเวียดนามเมื่อปี 2560  โดยตั้งเป้าไว้ว่า จนถึงปี 2563 จะมีสถานประกอบการสตาร์ทอัพ 1 ล้านแห่ง วันนี้เกิดอะไร คำประกาศนี้ถูกเดินหน้าอย่างมีพลังจากทุกภาคส่วน ธุรกิจสตาร์ทอัพเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการสอดประสานกันตั้งแต่ระดับนโยบายของรัฐบาล ที่สรัาง บรรยากาศเอื้อให้แก่การพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ จนถึงปี 2568 ที่เน้นให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการ สตาร์ทอัพในทุกด้าน

“เงิน” คือปัจจัยใหญ่ในการเดินหน้าของสตาร์ทอัพของทุกประเทศ ทำอย่างไรที่จะขจัดอุปสรรคนี้  เวียดนามใช้โอกาสที่กลุ่มบริษัท Lotte กำลังทุ่มการลงทุนมาที่เวียดนาม เสนอในเวทีพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กับประธานกลุ่มบริษัท Lotte เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ให้ทางกลุ่มบริษัทฯก่อตั้งกองทุนธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับเยาวชนในเวียดนาม ซึ่งประธานกลุ่มบริษัท Lotte ตอบรับอย่างดี และยืนยัน “จะดำเนินการโดยเร็ว” 

ความจริงจังของเวียดนาม และการรวมพลังไปที่เป้าหมายเดียว คือ ทำให้ชาติเจริญเติบโต เห็นผลชัดเจนตามลำดับอย่างรวดเร็วอย่างที่ชาวโลกต้องร้อง “WOW” ข้อมูลของสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ  ณ กรุงฮานอย ประจำเดือนมกราคม 2562 ระบุว่าในปี 2561 เวียดนามมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 480,171 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการส่งออก 243,483 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการนำเข้า 236,688 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้า

ปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ 27,643 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 342,899 ล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดด้วย 7,529 โครงการ มีมูลค่าเงินทุนจดทะเบียนสูงถึง 63,378 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 18.5%  ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด รองมาเป็นญี่ปุ่นที่มี 4,020 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 56,632 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16.5% และถัดไปเป็นสิงคโปร์ ที่มี 2,169 โครงการ มูลค่า 47,917 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 14.0 %

IMG 20190319 095938

นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่  ณ นครโฮจิมินห์  ให้ข้อมูลในโอกาสเยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC )  ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกต้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดที่มาร่วมงาน PROPAK VIETNAM 2019 ณ  Saigon Exhibition and Convention Center (SECC)  นครโฮจิมินห์  ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

เขา ระบุว่า รอบ 10 ปีมานี่ เวียดนามมีการเติบโตของจีดีพีปีละ 6-7% ปี 2561 เติบโตถึง 7.08 % สูงสุดในรอบ 10 ปี และกำลังทะยานไม่หยุด เวลานี้เวียดนาม ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพมหาศาล อยู่ใกล้ไทยด้วย เขาสามารถเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งคู่ค้า หุ้นส่วน และเป็นคู่แข่งขันในบางมิติ เป็นประเทศที่เราต้องศึกษาอย่างจริงจัง  

แม้ก่อนหน้านี้นักลงทุนทั้งไทยและชาติอื่นๆ ลังเลที่จะปักหลักลงทุนหลายราย แต่นายอภิรัตน์ บอกว่า ยอมรับว่าทำการค้ากับเวียดนามไม่ง่าย เพราะเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมีการลงทุนแล้ว ก็ไม่มีโครงการใดถอยออกไป หากศึกษามาอย่างรอบด้าน และติดตามกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด การลงทุนที่เวียดนามถือว่าคุ้มค่า

เดาทางว่า ดูท่าไทยจะแข่งกับเวียดนามไม่ทันเสียแล้ว ก็ปรับเป็นคู่ค้าเสียจะดีกว่า เพราะกลยุทธ์ของเวียดนามล้ำลึก และสอดประสานทุกองคาพยพอย่างที่ประเทศอื่นๆยากจะเลียนแบบ ความเจ็บปวดของเขาจากประวัติศาสตร์สงคราม ก่อเป็นพลังความสามัคคี ที่มองเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ “ชาติ” ต้องเจริญ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของโลก เขาคือ “เวียดนาม” แค่นี้หลายประเทศ โดยเฉพาะ ไทยก็ยากจะเลียนแบบได้แล้ว เพราะคนไทยหลายคน  “อยู่ตรงไหน ที่นั่นดีกว่าประเทศตัวเองเสมอ”

อีกปัจจัยที่ “ยาก” สำหรับไทย ก็คือ “การเมือง” ไทยที่มีจุดยืนแตกต่างคนละฝักคนละฝ่าย จนไม่อาจมาบรรจบพบกันได้ มีการสาดกระสุนกันไปมา และสาดกันยาวนานเป็น “สงครามน้ำลาย”  ที่ไม่มีวันจบ และสุดท้าย ไม่รู้ว่า ประโยชน์ของประชาชน และประเทศอยู่ตรงไหน?? ของการต่อสู้กันของ “ท่านทั้งหลาย” 

 

: ขอบคุณภาพข่าวสารเวียดนาม จาก VOVWORLD