COLUMNISTS

งัด ม. 44 อุ้มมือถือ ‘เอื้อนายทุน’ หรือ ‘ให้ประโยชน์ประชาชน’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
927

วันที่ 11 เมษายน ก่อนวันสงกรานต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหา การประกอบกิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม

NjpUs24nCQKx5e1DHNMC1U7IfyFa1n2HfSRcnFus0u5

คสช.ให้เหตุผลที่ออกคำสั่งดังกล่าวว่า เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ทันกำหนดจึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ และกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใหม่ เพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้โดยไม่กระทบประชาชน

คำสั่งเดียวกัน คสช. ยังยกเหตุผล(ที่ต้องออกคำสั่ง) ว่าเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมือถือ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) และ 2,600 MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จีในอนาคต

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) .ร้องขอให้ปรับปรุงเกณฑ์ในการชำระค่าใบอนุญาตตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ก่อนโอเปอเรเตอร์มือถือยื่นขอความช่วยเหลือตาม เพราะเห็นว่าธุรกิจก็มีปัญหาการชำระค่าใบอนุญาตเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัล

เดิมมีกระแสข่าวว่า คสช.จะมีคำสั่งตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว ก่อนเรื่อยมาๆ ให้คนในวงการได้ลุ้นกันต่อเนื่อง กระทั่งมีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมาหรือเกือบครบ 1 ปี นับแต่เริ่มร้องขอต่อ คสช.

ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ฯลฯ ส่งเสียงค้านแนวคิดออกมาตรการอุ้มมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนธุรกิจโทรคมนาคม โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่มากกว่าให้ประโยชน์กับส่วนรวม รัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ รวมทั้งคำวิจารณ์อันน่าตกใจที่ว่า กสทช. สุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่า ทุจริตเชิงนโยบาย

logo

ในมุมของโอเปอเรเตอร์ พวกเขายืนยันกลับว่า ข้อเสนอให้ กสทช. ยืดระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไปสมเหตุสมผล อย่างแรกที่สุดคือ รัฐไม่ได้เสียประโยชน์ (ยอดเงินค่าใบอนุญาตเท่าเดิม) เพียงแต่กสทช.ได้เงินช้าลง (เท่านั้น) และการผ่อนคลายดังกล่าวช่วยเติมสภาพคล่องทางการเงินให้ใช้สำหรับการขยายโครงข่าย และ เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อเข้าสู่ยุค 5 จี ในปี 2563 อีกต่างด้วย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อชาติในที่สุด

คำสั่งคสช. ในส่วนธุรกิจโทรคมนาคม สรุปประเด็นสำคัญๆได้ดังนี้ ขยายระยะเวลา ชำระค่าใบอนุญาตจาก 4 งวดเป็น 10 งวด (ทรูและเอไอเอส) หรือจากเดิมต้องชำระงวดสุดท้ายปี 2563 เลื่อนไปเป็นปี 2568 ส่วนดีแทคที่ประมูลในปี 2561 ชำระงวดสุดท้ายปี 2570 (เดิม 2565) ส่วน ค่างวด นับจากปี 2564 โอปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายต้องชำระเฉลี่ยราว 8 พันล้านบาท

หากเปรียบเทียบเกณฑ์การชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ กับเกณฑ์เดิม เกณฑ์ใหม่ช่วยคลายเครียดทางการเงินให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้อย่างฉับพลัน อย่างแรกที่สุดเกณฑ์เดิม ต้องชำระ(ค่าใบอนุญาต) ทั้งหมดภายใน 4 งวด และงวดสุดท้ายโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ต้องชำระงวดสุดท้าย อยู่ระหว่าง 3-6 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ

แม้(เกณฑ์ใหม่) ต้องเสียอัตราดอกเบี้ย (ช่วงยืดอายุเวลาชำระค่าใบอนุญาต) แต่อัตราดอกเบี้ยจิ๊บๆ มาก ราว 1. 5 % เท่านั้น ใกล้เคียงกับซอฟท์โลน หรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษมากๆ ที่แบงก์ชาติ อุดหนุนสถาบันการเงินช่วงฟื้นฟูกิจการ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โอเปอเรเตอร์ (ที่จะขอใช้สิทธิ) ต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่กสทช.กำหนด เตรียมไว้สำหรับเข้าสู่ยุค 5จี ซึ่งคาดว่าการประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นในปีนี้ เป็นเงื่อนไขเหมือนยื่นหมูยื่นแมว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (รูปจาก เฟซบุ๊ก TDRI )

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ที่ค้านมาตรการอุ้มโอเปอเรเตอร์มาโดยตลอด โพสต์ความเห็นหลังราชกิจจาเผยแพร่คำสั่งของคสช.ว่า การยืดระยะเวลาชำระค่าสัมปทานคลื่นความถี่ เท่ากับลดค่าสัมปทานให้ผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการต่อรายไม่น้อยกวา 8 พันล้านบาท และประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์ในข้อตกลงนี้

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการอุดหนุนธุรกิจทีวีดิจิทัล และโทรคมนาคม ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงเป็นอีกประเด็นให้สังคมไทยได้ถกกันอีกว่า สมควรหรือไม่สมควร เอื้อนายทุน หรือ ให้ประโยชน์กับประชาชน เป็นการเปิดทางให้ประเทศเคลื่อนเข้าสู่ยุค 5 จีที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจตามมาอีกมหาศาล

แต่กว่าจะได้รู้ว่า มุมมองไหนถูกต้องที่สุด คงต้องรออีกหลายปี เช่นเดียวหลายเรื่องที่คสช.มีคำสั่งตามมาตรา 44 ออกไปก่อนหน้านี้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การอุ้มโอเปอเรเตอร์มือถือ ให้ประโยชน์ หรือ เอื้อประโยชน์อย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน