General

เซ็ต 80 ศูนย์-ปฏิบัติการ 8,000 หน่วย รับมืออุบัติเหตุฉุกเฉินช่วงสงกรานต์

สพฉ. เซ็ต 80 ศูนย์ทั่วประเทศ-ปฏิบัติการ 8,000 หน่วย รับมืออุบัติเหตุฉุกเฉินช่วงสงกรานต์ ย้ำ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ” เข้าได้ทุกโรงพยาบาลใกล้บ้านภายใน 72 ชม.  พร้อมผุดโครงการ “ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เริ่มคิกออฟ 20 พื้นที่ ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ ปี 65 หวังลดสถิติการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  แนะประชาชนดาวน์โหลดแอพ EMS 1669 ช่วยแจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

จากสถิติปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวน 3,724 ครั้ง เพื่อเป็นการยับยั้งการสูญเสียของประชาชน ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชน ในการเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยได้ประสานศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ซึ่งมีจำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ และมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินกว่า 8,000 หน่วย

แบ่งเป็นชุดปฏิบัติการฉุกเฉินขั้นสูง ขั้นพื้นฐาน และขั้นต้น รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้เตรียมพร้อมกำลังคน และเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ รองรับการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

info11

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร ดำเนินโครงการ “ตำบลปลอดภัย ประเทศไทยปลอดภัย ไร้ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เพื่อสร้างความปลอดภัยในตำบลต่างๆ ของประเทศไทย โดยเน้นให้สำรวจ วิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยง จุดเสี่ยงของชุมชน โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร เพื่อประกาศให้คนในชุมชนได้ทราบอย่างทั่วกัน ร่วมกันระมัดระวังแก้ไข และกำหนดมาตรการความเสี่ยงตามข้อมูลความเสี่ยงที่ค้นพบ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดทำแผนป้องกัน รับมือ ฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับประชาชนด้วยการรณรงค์ อบรมให้ความรู้ และกำหนดวิธีสื่อสารในการจัดการด้านความปลอดภัย ซึ่งจะมีกระบวนการติดตามประเมินผล เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

เบื้องต้นตั้งเป้าดำเนินโครงการนี้ในพื้นที่ 20 ตำบลทั่วประเทศ และจะขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2565  ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ต้นแบบ 2 แห่ง ที่ดำเนินการตามโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน

info2

และสำหรับประชาชนทั่วไป ที่จะต้องเดินทางไกล นอกจากการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 ที่พร้อมดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมงแล้วเชิญชวนประชาชน ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น “EMS1669” ไว้ในโทรศัพท์มือถือเพิ่มเติม เมื่อพบเห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุ และพบผู้ป่วยฉุกเฉินประชาชน ก็สามารถแจ้งเหตุผ่านแอพพลิเคชั่น “EMS1669” ที่จะทำให้การแจ้งเหตุแม่นยำ และทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ในส่วนของนโยบาย “ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP ) เมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็น ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน สามารถเข้ารับการรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ จะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้าเกณฑ์ของการใช้สิทธิ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ อาทิ

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือ ชักต่อเนื่องไม่หยุด

6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ทั้งนี้ โดยการประเมินของแพทย์ และหาก ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อมายังศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส. สพฉ.) หมายเลข 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชม.

Avatar photo