World News

ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ‘หลุมดำ’ ภาพแรกของโลก

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ประกาศความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของวงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ด้วยการเผยแพร่ภาพหลุมดำของจริงเป็นครั้งแรก นับเป็นการพิสูจน์การมีอยู่โดยตรงที่สุด

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติแถลงข่าวพร้อมกันใน 6 เมืองทั่วโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม กรุงซันติอาโก ชิลี นครเซี่ยงไฮ้ จีน กรุงไทเป ไต้หวัน และกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เปิดเผยภาพถ่ายหลุมดำ ที่รวบรวมจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 8 แห่งทั่วโลก ที่เรียกว่า อีเวนท์ ฮอไรเซิน เทเลสโคป (อีเอชที)

000 1FJ18W

ภาพหลุมดำภาพแรกนี้ เป็นการบันทึกภาพของหลุมที่อยู่ใจกลางกาแล็กซี่ เมสซิเยร์ 87 หรือ เอ็ม 87 กาแล็กซี่ขนาดมหึมาในกลุ่มกาแล็กซี่เวอร์โก ที่อยู่ใกล้เคียงและอยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 54 ล้านปีแสง มีมวล 6500 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์

นายฟรานซ์ คาสร์โดวา ผู้อำนวยการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (ยูเอสเอ็นเอสเอฟ) กล่าวว่า เป็นเป็นวันอันยิ่งใหญ่ของวงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ชาวโลกได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งหลุมดำเป็นเรื่องที่มนุษย์ศึกษากันมาหลายสิบ แต่ไม่เคยมีใครมองเห็นหลุมดำมาก่อนเลย เพราะหลุมดำได้เก็บกักแสงเอาไว้ ทำให้การมองเห็นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

“ภาพนี้ช่วยยืนยันได้ว่าหลุมดำมีอยู่จริง​ตาม​ทฤษฏี​สัมพัทธภาพ​ทั่วไปของไอน์สไตน์ โดยหลุมดำไม่ได้​ดำมืดอย่างชื่อของมัน แต่ห้อมล้อมด้วยแผ่นจานของก๊าซร้อนจัด ที่แผ่รังสี​ปริมาณ​มหาศาลออกมาอยู่​ตลอดเวลา”

ทั้งนี้ โครงการอีเอชทีเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อพยายามสังเกตโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของหลุมดำ โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก ซึ่งคณะนักวิจัยของโครงการได้รับข้อมูลครั้งแรกเมื่อเดือน เมษายน 2560 จากกล้องโทรทรรศน์ในรัฐแอริโซนา และรัฐฮาวายของสหรัฐ รวมทั้งในเม็กซิโก ชิลี สเปน และทวีปแอนตาร์กติกา

Avatar photo