Economics

‘สภาพัฒน์’ เผยจีดีพีไตรมาสแรกสูงสุดรอบ 5 ปี

546

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 และ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 ขยายตัว 4.8% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี ขณะที่ทั้งปีนี้สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.2-4.7% จากเดิมคาด 3.6-4.6%

ด้านการส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว 9.9% ขณะที่ทั้งปีคาด 8.9% ส่วนการนำเข้าไตรมาสแรกขยายตัว 16.3% และทั้งปีคาดขยายตัวได้ 12.7% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.6% และทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.7-1.7%

โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวที่มากขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่สศช.ได้คาดการณ์จีดีพีเติบโต 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ สศช. ยังได้ประเมินค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม สศช.มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวมากขึ้น โดยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ และการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท ในขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ รวมถึงการคาดการณ์ของนักลงทุน ที่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นปัจจัยกดดันการแข็งค่าของเงินบาทด้วย

ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2560 โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกนำโดยสหรัฐ ยุโรป จีน และอินเดีย รวมถึงความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ NON-OPEC ที่อยู่ในระดับสูงและมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตน้ำมันจะตกลงขยายความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตไปจนสิ้นไป 2562

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK