COLUMNISTS

เงินดิจิทัล…ชื้อของได้ไหม

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
53

คำถามข้างต้นมาจากนักการเงินรีไทร์รายหนึ่ง ที่ยังหาคำตอบให้ลูกชายที่มาปรึกษาเรื่อง การลงทุนในเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ไม่ได้ ทั้งที่ตัวเองคลุกคลีกับเรื่องการเงินมาทั้งชีวิต

ที่สำคัญเจ้าตัวเองก็อยากรู้ว่า จะสามารถใช้ คริปโตฯ ซื้อของทั่วๆ ไป อย่างอาหาร เสื้อผ้า ฯลฯ ได้หรือไม่

เงินดิจิทัล...ชื้อของได้ไหม

คำถามพื้นๆ ดังกล่าว เป็นคำถามของคนอีกหลายๆคน ที่มีข้อสงสัยเช่นเดียวกันกับนักการเงินรายนี้ว่า คริปโตฯ ที่ถูกเปรียบ เป็นเงินเสมือนจริงนั้น จะทำหน้าที่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้หรือไม่

แม้ พรก.การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือ กฎหมายคริปโตฯ ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับกฎหมายอีกฉบับ (พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่19) พ.ศ. 2561) ให้คำจำกัดความคริปโตฯ เอาไว้ชัดเจนว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มา ซึ่งสินค้า บริการ หรือ สิทธิอื่นๆ หรือ แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน

แต่ประเด็นนี้ ต้องดูสัญญาณจากแบงก์ชาติด้วยว่า จะเอาอย่างไร !!!

ก่อนหน้านี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกมาเตือนคนชอบเสี่ยงว่า เงินดิจิทัลไม่มีสถานะทางกฎหมาย เสนอมูลค่าโดยไม่มีการค้ำประกันจากธนาคารกลาง ฯลฯ และยังออกแนวทางปฏิบัติให้แบงก์พาณิชย์ชุดใหญ่

สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

  • ห้ามแบงก์ซื้อขายบิทคอยน์ (สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยม) เพื่อผลประโยชน์ของแบงก์ หรือ ลูกค้า
  • ห้ามแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล
  • ห้ามสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลระหว่างกัน
  • ห้ามให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อสกุลเงินดิจิทัล ฯลฯ

ถ้าแบงก์ชาติยังยืนประกาศดังกล่าว โอกาสที่คริปโตฯจะเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ในวงกว้าง แทบจะไม่มีเลย

เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคำถามเกี่ยวกับเงินดิจิทัลตามมาอีกหลายระลอก และเป็นคำถามที่ชวนให้ผู้เกี่ยวข้องปวดหัวทั้งสิ้น แค่สัปดาห์แรกที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ หน่วยงานรัฐต้องหาคำตอบจากผลที่คาดว่าจะตามมากันวุ่น

รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ออกมาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา เงินดิจิทัลเป็นทรัพย์ที่สามารถบังคับคดีได้ตาม ประมวลวิธีพิจารณาความแห่งว่าด้วยการบังคับคดีหรือไม่

เธอยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีประเทศไหนอายัด(คริปโตฯ)

ส่วน ยรรยง เต็งอำนวย กรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ไปบรรยายให้ความรู้เรื่องรูปแบบธุรกิจดิจิทัลให้เจ้าหน้าที่รัฐฟัง ตั้งประเด็นเชิงเทคนิคไว้น่าสนใจว่า เงินดิจิทัลซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,600 สกุล มีรหัสล็อกด้วยระบบคลิปโตฯ วอลเล็ต ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกระเป๋าเงิน ผู้อื่นไม่สามารถเจาะเข้าระบบได้ ถ้าเจ้าของไม่ยอมบอกรหัส ฉะนั้นกฎหมายต้องมีสภาพบังคดีให้ลูกหนี้ยอมบอกรหัสเพื่อเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ หรือการขายทอดตลาด คริปโตฯจะมีขั้นตอนอย่างไร

ดูจากมุมสะท้อนข้างต้นแล้ว ต่อไปหากเจ้าคุณปู่ต้องการ มอบคริปโตฯให้เป็นมรดกกับลูกหลาน คงต้องระบุให้ชัดเจนว่า ขอมอบคริปโตฯ พร้อม รหัสเพื่อเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์แก่ นาย ..นาง .. อะไรทำนองนี้

ที่ไม่พลาดแน่ๆคือ การปั่น คริปโตฯ หรือ โทเคนดิจิทัล แม้กฎหมายมีมาตรากำกับดูแล อย่างเข้มงวดเหมือนถนนที่มีกล้องซีซีทีวีคอยสอดส่องทุกซอกทุกมุมก็ตาม แต่อย่าลืมว่า หุ้นมีกฎหมายห้ามปั่น เช่นกัน แต่ยังมีการปั่นหุ้นให้เห็นกันต่อเนื่อง

ยิ่งคริปโตฯขึ้นชื่อเรื่องราคาวูบไหว ( ในต่างประเทศราคาขึ้นลงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงเคยปรากฎมาแล้ว ) ความเสี่ยงย่อมทวีคูณตามเท่านั้น

ใครที่คิดจะลงทุน …..ท่องไว้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน ถ้าไม่รู้อย่าเสี่ยง . .

Add Friend