Economics

พีคหน้าร้อน 62 ใช้ไฟเพิ่ม 4.6% เร่งมาตรการ 4 ป. ชวนประชาชนประหยัดไฟ

หน้าร้อนปีนี้ คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ตามอุณหภูมิ ดันพีคขึ้นเป็น 35,889 เมกะวัตต์ ขยายตัวจากปี ก่อน 4.6% รณรงค์มาตรการ 4 ป. ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน ขอความร่วมมือประชาชน เอกชน ภาคอุตสาหกรรม ประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนเป็นพิเศษ เลือกใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม

3P6A8504
สราวุธ แก้วตาทิพย์

ดร. สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หน้าร้อนในปีนี้ คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) จะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4.6 % จากปี 2561 ซึ่งในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส จากพีคปี 2561 ที่ 34,317 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน เวลา 13.51 น. ที่อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลง 1 องศาเซลเซียส มีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่อาจเติบโตขึ้น และประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน

สำหรับการผลิตไฟฟ้า ณ เดือนมกราคม 2562 มีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบอยู่ที่ 56,034 เมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 18,939 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ลดลง 0.3%  มีสัดส่วนผลิตจากก๊าซธรรมชาติสูงสุด 57%

ส่วนการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 17,600 GWh เพิ่มขึ้น 1.6% โดยการใช้ไฟฟ้าในกลุ่ม IPS คิดเป็นสัดส่วน 13% ส่วนการใช้ไฟฟ้ารายสาขา ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 40% การใช้ลดลงที่ 1.1% ตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง สาขาธุรกิจ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% เพิ่มขึ้น 7.3% ตามการขยายตัวของการบริโภคในภาคเอกชน และการท่องเที่ยว

โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า อพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ และโรงแรม มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.0% 11.8% และ 2.9% ตามลำดับ ในส่วนของโรงแรมเพิ่มขึ้นสูง มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่าสำหรับชาวต่างชาติใน กทม. ส่วนสาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 20% ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 14.6% คาดว่าเป็นผลมาจากการหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่

17445
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

ทางด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ใช้มาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” เพื่อช่วยลดพีคของประเทศ โดยจะเน้นเจาะกลุ่มรณรงค์ไปยังกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงให้มากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อพาร์ทเมนท์ และเกสต์เฮาส์

สำหรับมาตรการ 4 ป. ประกอบด้วย

  • ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
  • ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศาจะช่วยประหยัดไฟเพิ่มได้ 10%
  • ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้
  • เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ ที่มี 1 – 3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 – 15.00 น.  และ 19.00 –21.00 น.

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่าในส่วนกรณีผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ประเทศเมียนมา มีแผนหยุดการผลิตบางส่วน เพื่อปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประจำปี ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2562 รวมระยะเวลา 7 วันนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกฟผ.เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว

โดยเบื้องต้น ปตท. เจรจาให้ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งอื่นดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว กลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยรวมอยู่ในระดับลดลง ส่งผลให้ กฟผ. ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล เพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทน

17455
จรรยง วงศ์จันทร์พงษ์

ขณะที่ นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า  กฟผ.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ( IPP ) และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP )  ให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน

“ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ มีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอ สำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น “

ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. งดทำงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า และอุปกรณ์ในระบบส่งที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยให้การใช้ไฟฟ้าในระบบไม่สูงจนเกินไป

17462
วุฒิกร สติฐิต

ขณะที่นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. ย้ำว่าในกรณีก๊าซฯแหล่งยาดานาซ่อมบำรุงและหยุดส่งนั้น ทำให้กำลังผลิตหายไป 350 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เป็นเพียง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตที่หายไป สามารถนำก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกมาเสริม โดยปตท.มีก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำรอง 17.5 ล้านตันต่อปี จ่ายก๊าซฯได้ 1,600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

Avatar photo