World News

ทรัมป์ส่งสารถึงโลก ‘สงครามการค้ายังไม่จบ’

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กำลังส่งสารที่ชัดเจนไปยังกลุ่มผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มารวมตัวกันอยู่ที่วอชิงตัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกว่า “สงครามการค้า” ของเขายังไม่จบ และเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอ ก็ทำได้แค่เตรียมรับมือกับเรื่องนี้เท่านั้น

trump2
โดนัลด์ ทรัมป์

ในคำขู่ที่จะขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (อียู) มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ไล่ตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ ไปจนถึงชีสนั้น ผู้นำสหรัฐได้ส่งสัญญาณเตือนไว้ว่า แม้เขาจะเดินหน้าเจรจาข้อตกลงกับจีน เพื่อยุติการทำสงครามภาษี แต่เขายังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติอื่นๆ ที่เขาต้องการเขียนขึ้นมาใหม่อีก

ท่าทีดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณร้ายสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งไอเอ็มเอฟ และองค์กรต่างๆ พากันระบุว่า ความไม่แน่นอนของทรัมป์ที่มีต่อระบบการค้าโลกนั้น ทำให้บรรยากาศการลงทุน และความรู้สึกของภาคธุรกิจย่ำแย่ลง

ทั้งนี้ คำขู่ที่จะขึ้นภาษีดังกล่าว เป็นการตอบโต้ต่อเรื่องที่สหรัฐอ้างมาเป็นเวลานานแล้วว่า อียูให้การสนับสนุนอย่างผิดกฎหมายต่อแอร์บัส และเป็นการต่อสู้ที่เวทีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ยืดเยื้อกันมานานถึง 14 ปี ระหว่างโบอิง โค ยักษ์ใหญ่ด้านการบินสหรัฐ กับแอร์บัส

ที่สำคัญก็คือ แม้อนุญาโตตุลาการดับเบิลยูทีโอ จะระบุมาแล้วว่า การอุดหนุนแอร์บัสที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายสหรัฐระบุว่า จะรอการตัดสินของดับเบิลยูทีโอในช่วงกลางปีนี้ เพื่อตัดสินว่าจะปรับขึ้นภาษีมากน้อยเท่าใด เพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายมองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีต่อดับเบิลยูทีโอ และระบบการค้าโลก ที่ทรัมป์มักพูดเสมอๆ ว่าต้องการทำลายทิ้ง

ไซมอน เลสเตอร์ รองผู้อำนวยการ สถาบันเคโต ในสหรัฐ ชี้ว่า ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐ ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยรัฐบาลสหรัฐได้ส่งสัญญาณที่สับสนบางอย่างเกี่ยวกับดับเบิลยูทีโอ แต่เป็นการบ่งชี้ว่า พวกเขายังคงให้คุณค่าต่อการเล่นตามกฎ

แต่การที่ทรัมป์เกาะติดเรื่องขึ้นภาษีต่ออียูนั้น ยังถือเป็นปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก ที่ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า การขยายตัวในปีนี้จะอยู่ในระดับช้าสุดนับแต่ช่วงหลังวิกฤติการเงินเมื่อทศวรรษก่อนหน้านี้

trade

เปิดศึกคู่ค้าทั่วโลก 

แน่นอนว่าอียูไม้ได้เป็นสนามรบเพียงแห่งเดียว ที่ทรัมป์จะเปิดศึกสงครามการค้า

เจ้าหน้าที่จีน และสหรัฐ กำลังเดินหน้าเจรจา เพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงการค้าให้ได้ภายในเดือนหน้า ทั้งในสัปดาห์หน้า คณะเจรจาญี่ปุ่น ก็มีกำหนดการเดินทางมายังกรุงวอชิงตัน เพื่อเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทวิภาคี ที่บริษัท และเกษตรกรอเมริกันตั้งตารอคอย เพื่อชดเชยกับการที่ทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี)

คำขู่ที่จะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่น ที่จะทำให้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น กดดันให้รัฐบาลโตเกียวต้องกลับมายังโต๊ะเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง

โทชิมิตสึ โมเตกิ หัวหน้าคณะเจรจาการค้าญี่ปุ่น ยืนยันว่า ข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น จะต้องเป็นข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน สะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นจะไม่ยอมก้มหัวให้กับสหรัฐง่ายๆ แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า หัวข้อการเจรจาของ 2 ฝ่าย ครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง แม้ข้อตกลงระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น และทรัมป์ ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว จะเอ่ยถึงทั้งเรื่องสินค้า และบริการ

ในเวลาเดียวกัน แคนาดา และเม็กซิโก ก็กำลังเดินหน้าผลักดันให้สหรัฐยกเลิกการขึ้นภาษีโลหะและอลูมิเนียม โดยที่ทั้ง 3 ประเทศ กำลังทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะให้สภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศ อนุมัติในข้อตกลงใหม่ ที่จะนำมาใช้แทนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา)

http com.ft .imagepublish.upp prod us.s3.amazonaws 1

นอกจากนี้ ยังมีอินเดีย ที่ขู่จะขึ้นภาษีต่อแอปเปิ้ล และสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากาหรัฐ เพื่อตอบโต้กับคำขู่ของทรัมป์ ที่จะปลดอินเดียออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร

“เรายังอยู่ในโลกของภาษีศุลกากรเหมือนกับที่เราอยู่เมื่อปีที่แล้ว แต่คำถามก็คือ จุดไหนที่ประเทศต่างๆ จะบอกว่า พอได้แล้ว” เวนดี้ ค้ทเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่เจรจาการค้าอาวุโสของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันร่วมงานกับสถาบันเอเชีย โซไซเอตี กล่าว

ที่มา :  Bloomberg

Avatar photo