Branding

เจาะลึก ‘Cafe Amazon’ ธุรกิจเรือธงใหม่ของ ‘PTTOR’

ครั้งก่อนเราได้พาไปสำรวจแบรนด์ร้านกาแฟของกลุ่มซีพีมาแล้ว แต่วันนี้อยากจะพามาดูอีกฝั่งในส่วนของเจ้าตลาดอย่างแบรนด์ Cafe Amazon ของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR กันบ้าง

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้ธุรกิจกาแฟ ภายใต้แบรนด์ Cafe Amazon กลายเป็นหนึ่งในเรือธง (Flagship) ใหม่ของ PTTOR ไปแล้ว จากโครงสร้างปัจจุบันของ PTTOR ที่แบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

Amazon4

  1. ธุรกิจน้ำมัน (Oil) ประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สถานีบริการ LPG และธุรกิจจำหน่าย LPG ในครัวเรือน : สัดส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 80%
  2. ธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ (Non-Oil) เช่น Cafe Amazon, Jiffy, Texas Chicken และ FIT Auto เป็นต้น : สัดส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20%

ขายน้ำมันกำไรน้อยกว่ากาแฟ ?

อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลงไปในงบการเงินของบริษัท ก็จะพบว่าในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. 1 แห่ง หากนับกำไรที่ทำได้ 100% ส่วนใหญ่กลับมาจากธุรกิจที่เป็นร้านค้าปลีกมากกว่าครึ่ง คือ Cafe Amazon กว่า 35% ร้านค้าอื่นๆ 25% ส่วนกำไรจากหัวจ่ายน้ำมันมีเพียง 30% เท่านั้น และที่เหลืออีก 10% เป็นกำไรจากการให้เช่าพื้นที่

เรื่องนี้จึงพิสูจน์ได้ดีว่าการขายน้ำมันอย่างเดียวอาจเอาไม่อยู่ เพราะปกติแล้ว “ค่าการตลาด” หรือมาร์จินของธุรกิจน้ำมัน จะอยู่แค่ประมาณ 0.90-1.60 บาทต่อลิตรเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตรากำไรของร้านกาแฟที่สูงเกือบ 30-40% แถมราคาน้ำมันยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผันผวนอย่างมากตามตลาดโลก

จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นกลยุทธ์ของ PTTOR ด้วยการชู Cafe Amazon เป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในช่วงไตรมาส 3/2562 ล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดทำ Filing เพื่อยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

Amazon

จุดเริ่มต้นของ Cafe Amazon

ร้านกาแฟ Cafe Amazon เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 เพราะเวลานั้น ปตท. ต้องการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยวางแนวคิดให้กาแฟรองรับกับไลฟ์สไตล์คนเดินทางที่มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับชื่อแบรนด์ได้ไอเดียมาจากป่า Amazon ในประเทศบราซิลซึ่งเป็นต้นตำรับกาแฟ และถูกนำมาต่อยอดออกแบบร้านที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย ตกแต่งด้วยโทนสีเขียว เน้นภาพลักษณ์แนวธรรมชาติ กลายมาเป็น สโลแกนที่ใช้จนถึงวันนี้ว่า “Taste of Nature”

ปัจจุบัน Cafe Amazon เติบโตมีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 2,600 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทยราว 2,400 สาขา ส่วนที่เหลืออีก 200 สาขา ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว กัมพูชา  ฟิลิปปินส์ เมียนมา ญี่ปุ่น และโอมาน

ขณะที่ผลประกอบการก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี  

อเมซอน 01

  • ปี 2557 รายได้รวม 3,500 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้รวม 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28%
  • ปี 2559 รายได้รวม 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.14%
  • ปี 2560 รายได้รวม 10,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%

ส่วนในปี 2561 ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะ PTTOR อยู่ระหว่างจัดทำ Filing แต่หากอ้างอิงตัวเลขก่อนหน้านี้ ทาง ปตท. ตั้งเป้าว่า Cafe Amazon จะมีรายได้ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 25% เป็น 12,820 ล้านบาท

ปั้น Cafe Amazon เทียบชั้น Global Brand

แม้วันนี้แบรนด์ Cafe Amazon จะเรียกได้ว่าเป็นร้านกาแฟเบอร์หนึ่งในประเทศแล้ว ทั้งในแง่ของจำนวนสาขา ความเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และส่วนแบ่งทางการตลาด แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือ การทำให้แบรนด์เติบโตในระดับ “Global Brand” เทียบชั้นกับร้านกาแฟระดับโลกให้ได้

สาขาCafe Amazon 01

ด้วยการตั้งเป้าหมายระยะยาวอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะต้องมีจำนวนสาขาทั่วโลกเป็น 20,000 สาขา หรือเป็น 1 ใน 3 ของ Starbucks ที่คาดว่าในอนาคตน่าจะมีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 แห่งเช่นกัน

“จุดแข็งของ Cafe Amazon คือความเป็นป๊อปปูลาร์แบรนด์ ไม่ใช่ไฮโซแบรนด์ ทำให้เข้าถึงง่าย จับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดื่มกาแฟสดในราคาไม่แพง คุ้มค่าเงินที่จ่าย และจากการสำรวจตลาด เราก็พบว่าคนต้องการให้แบรนด์ที่เป็นแบบนี้มากกว่า” นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวถึงจุดเด่นที่ทำให้ Cafe Amazon ประสบความสำเร็จ

วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากาแฟ กลายเป็นหนึ่งกำลังหลักของกลุ่มปตท. ไปแล้ว แต่แน่นอนว่าธุรกิจน้ำมัน ก็ยังเป็นเป้าหมายของบริษัท เพราะถือเป็นรากฐานสำคัญที่คอยผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มค้าปลีก มีช่องทางเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยจำนวนผู้คนที่แวะเข้ามาใช้บริการปั๊มปตท. ในแต่ละวันที่สูงถึง 1.8 ล้านราย

Amazon3

อเมซอน

 

ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก เพจ Café Amazon

Avatar photo