Business

เกษตรฯขับเคลื่อนมาตรการประชารัฐ

006

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน จำกัด อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ วงเงิน 93,600 ล้านบาท

ประกอบด้วยโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งดำเนินการในรูปแบบบัตรสวัสดิการสินเชื่อแห่งรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิตผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เป้าหมายเกษตรกร 3 ล้านราย รายละไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 90,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ย MRR-3 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนการผลิต หรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัด เพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป เป้าหมายสถาบันเกษตรกร 500 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท

ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร 300 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามศักยภาพและความจำเป็นในการใช้เงินกู้ และวิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง วงเงินกู้แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR-3 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5 ต่อปี)

ทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 12 เดือน และไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยกระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนการให้ความรู้ การใช้ปัจจัยการผลิต ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรด้วย

005 1

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่า ธนาคารได้จัดทำ “บัตรเกษตรสุขใจ” ซึ่งเป็นบัตรที่มี QR Code โดยเกษตรกรสามารถนำบัตรดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น ผ่าน “A-Shop” แอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส.  กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 17,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร โดยบัตรแต่ละใบมีวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 30,000 บาท

“บัตรเกษตรสุขใจมีความสะดวกปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ โดยเริ่มแจกจ่ายบัตรเกษตรสุขใจที่สหกรณ์การเกษตรคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 236 ใบ คาดว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรเป็นส่วนลดสินค้า ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร 4,831 ล้านบาท” นายอภิรมย์ กล่าว


Add Friend

Avatar photo