Economics

คาดสงกรานต์ปีนี้คนกรุงใช้จ่ายสะพัดกว่า 25,000 ล้านบาท

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คนกรุงใช้จ่ายสะพัด 25,000 ล้านบาท เชื่อคนกรุงปรับแผนท่องเที่ยว หลัง “เชียงใหม่” เจอปัญหาฝุ่นละอองกระทบหนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้คนกรุงเทพฯ ใช้จ่ายคิดเป็นเม็ดเงิน 25,000 ล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากจำนวนวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน (12-16 เม.ย.)  แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 9,650 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 6,650 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,600 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,050 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ให้เงินผู้ใหญ่ในครอบครัว ค่าเที่ยวสถานที่ต่างๆ/ดูหนังฟังเพลง/เล่นน้ำ 2,050 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับผลกระทบจาก ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดฮิตในช่วงสงกรานต์ ทำให้คนกรุงเทพฯ มีการปรับแผนการท่องเที่ยว โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวและวางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ และเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เช่น ชลบุรี อยุธยา ระยอง คาดว่า บรรดาธุรกิจต่างๆ เช่น ค้าปลีก ที่พัก ร้านอาหารในย่านกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียง น่าจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น

ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ผู้ประกอบการควรเข้าไปจับตลาดน่าจะอยู่ในกลุ่มลูกค้า Gen Y และ Gen X ในวัยทำงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจการตัดสินใจซื้อสูง และยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ก่อให้เกิดเม็ดเงิน โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงสังสรรค์และช็อปปิ้ง แต่การจะเจาะตลาดกลุ่มนี้ ได้ กลยุทธ์สำคัญคือ ราคาต้องสมเหตุสมผลและมีโปรโมชั่น/สิทธิพิเศษ ที่ดึงความสนใจได้ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้อานิสงส์หลักจากการจับจ่ายใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาล

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในห้างเพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกๆ กลุ่มได้ดี ซึ่งในระยะหลังผู้ประกอบการหลายรายปรับตัวไปสู่การเป็น Life Style Mall มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกทำกิจกรรมได้หลากหลายทั้งกิน เที่ยว ช็อปปิ้ง ครบจบในที่เดียวแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคสามารถเดินเล่นหลบร้อนได้ หากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างของไลฟ์ สไตล์ของแต่ละ Generation สะท้อนให้เห็นว่า การทำตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ธุรกิจ Food Delivery Service ธุรกิจ E-Commerce ธุรกิจ Online Entertainment ควรเน้นการตลาดที่มุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Customization) มากขึ้น เพื่อจะได้นำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

 

ภาพปกจาก AFP

Avatar photo