Economics

เปิดรายงานการประชุม ‘กนง.’ คาดเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 3.8%

เปิดรายงานการประชุม “กนง.” ฉบับล่าสุด ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.8% ขณะที่ปี 2563 ขยายตัว 3.9% ชี้ตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2562 วันที่ 20 มีนาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพแม้จะเติบโตชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 4.0% และในปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9%

ธปท. แบงก์ชาติ

สำหรับโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอน อาทิ

  • ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น
  • การลงทุนภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวน้อยกว่าคาดจาก

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน
  • อุปสงค์ในประเทศอาจมากกว่าคาดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐโครงการ PPP และการลงทุนภาคเอกชนที่อาจเกิดขึ้นเร็วภายหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายเร็วกว่าคาด รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ควรให้ติดตามความต่อเนื่องของแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องของโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน การนำเข้าสินค้าทุนและการปรับตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะข้างหน้า รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและต่อฐานะการคลังระยะปานกลาง รวมถึงให้ติดตามภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

สำหรับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลง เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเอเชียได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง รวมถึงปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ เช่น ผลกระทบชั่วคราวจากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในยุโรป รวมทั้งความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการผลิตและการส่งออกอย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ในระยะต่อไปเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานตามทิศทางความเสี่ยงจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความเสี่ยงจากกรณีที่สหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะผลของการเร่งสะสมสินค้าคงคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงไตรมาสที่ 4 ของ ปี2561 ซึ่งอาจมีผลต่อการผลิตและการบริโภคในระยะต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุหลักจาก

  • ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก
  • ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit และการเมืองในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจกดดันราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค

นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์ไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนภายในประเทศหลังประกาศผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

ความเสี่ยงบางจุดอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตได้ อาทิ

  • การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายลงในช่วงก่อนหน้า
  • พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสัดส่วนสูงในตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ธพ.
  • ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อุปทานคงค้างในบางพื้นที่ อุปสงค์จากต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์ไทย และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ ธพ. จะเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับสถานะของผู้กู้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ในการประชุมครั้งนี้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น เห็นว่าการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เหมาะสมยังจำเป็นสำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

MPC Minutes 22562 x2cmqvc5 p001 MPC Minutes 22562 x2cmqvc5 p002 MPC Minutes 22562 x2cmqvc5 p003 MPC Minutes 22562 x2cmqvc5 p004 MPC Minutes 22562 x2cmqvc5 p005

Avatar photo