Economics

ผู้โดยสารว่าไง! ‘รถเมล์ 510’ ทดลองไม่รับเงินสด 2 เดือน ดีเดย์ 9 เม.ย.นี้

“ขสมก.” พลิกสู่สังคมไฮเทค! “รถเมล์ 510” ธรรมศาสตร์-อนุสาวรีย์ ทดลองไม่รับเงินสด 2 เดือน เริ่มต้น 9 เม.ย.

S 79265812

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยหลังพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การให้บริการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดระหว่าง ขสมก. และธนาคารกรุงไทย วันนี้ (1 เม.ย.) ว่า

ขสมก. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยดำเนินโครงการนำร่องบริการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดบนรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) สาย 510 เส้นทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทุกคัน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2562 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ของรัฐบาล

S 79290371

4 ทางเลือกจ่ายค่ารถเมล์แทนเงินสด

โดยผู้ใช้บริการรถเมล์สาย 510 สามารถชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC (Electronic Data Capture) บนรถโดยสารด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

1. ชำระค่าโดยสารด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รุ่นแรก (เวอร์ชัน 2.0), บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เวอร์ชัน 2.5) และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชัน 4.0

2. ชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต แบบ contactless ของธนาคารต่างๆ

3. ชำระค่าโดยสารด้วยระบบ QR Code

4. ชำระค่าโดยสารด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก. โดยผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรโดยสารดังกล่าวได้บนรถเมล์สาย 510 ซึ่งบัตรโดยสารดังกล่าวจะมีมูลค่าในบัตรจำนวน 50 บาท ผู้ใช้บริการสามารถเติมเงินในบัตรได้ 3 วิธี คือ เติมเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งของทุกธนาคาร, เติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร และเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

รถเมล์

ขสมก. อัดโปรโมชั่นบัตรอิเล็กทรอนิกส์

นายประยูร กล่าวต่อว่า ขสมก. จะมีโปรโมชั่นให้กับผู้ใช้บริการที่ซื้อบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก. ดังนี้

  • ผู้ใช้บริการที่ซื้อบัตร 10,000 ใบแรก ระหว่างวันที่ 3 – 30 เมษายน 2562 สามารถซื้อบัตรได้ในราคา 40 บาท
  • ผู้ใช้บริการที่นำบัตรมาเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป จะได้รับมูลค่าภายในบัตรเพิ่มอีก 50 บาท (จำกัดจำนวน 2,000 ใบ)

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถใช้บัตรโดยสารล่วงหน้า (ตั๋วรายเดือน – รายสัปดาห์, บัตรนักเรียน – นักศึกษา) ในการเดินทางได้ตามปกติ

หวังคนรุ่นใหม่ปรับตัวได้ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ ขสมก. เลือกทดลองบนรถเมล์สาย 510 เนื่องจากเห็นว่ามีนักเรียนนักศึกษาใช้บริการรถเมล์สายนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้โดยสารกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ น่าจะปรับตัวได้ดีและคุ้นเคยกับสังคมไร้เงินสดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ในการทดลองครั้งนี้ ขสมก. ต้องการดูผลตอบรับจากผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารมีการปรับตัวอย่างไร จำนวนผู้โดยสารที่สามารถชำระค่าโดยสารแบบไม่ใช้เงินสด ความสะดวกสบาย อัตราการรั่วไกลของค่าโดยสาร เป็นต้น

Avatar photo